พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม
พระมหาธาตุนภเมทนีดล ถ่ายจากสวนดอกไม้พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เวลาประมาณ 11.00-13.00 จะเป็นมุมย้อนแสงค่อนข้างแรง ควรหาช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้จะได้ภาพที่สวยงามของพระมหาธาตุทั้งสององค์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 มาทรงรับและทรงเปิดพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ที่กองทัพอากาศ ครบ 72 ปี ร่วมใจสามัคคีบริจาคทรัพย์สร้างเป็นอนุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล วโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2530
พระมหาสถูปเจดีย์ฯ นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "พระมหาธาตุนภเมทนีดล" มีความหมายว่า พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน
พระมหาธาตุนภเมทนีดล พระมหาธาตุนภเมทนีดล องค์นี้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2529 เวลา 10 นาฬิกา 49 นาที โดย พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน การก่อสร้างใช้เวลา 360 วัน สิ้นเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 45 ล้านบาทเศษ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานกรรมการอำนวยการก่อสร้าง พลอากาศโท เกริกชัย หาญสงคราม เป็นประธานอนุกรรมการควบคุมการสร้างและตกแต่ง นางไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชยสมบัติ เป็นสถาปนิก นายกัญจนจักก์ สถาปนสุต เป็นวิศวกร
พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บริเวณนี้มีป้ายเตือนอากาศเบาบาง เพราะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,142 เมตร ให้เดินขึ้นหรือลงอย่างช้าๆ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ พระมหาธาตุเจดีย์ นภพลภูมิสิริ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2536 มาทรงรับพระมหาธาตุเจดีย์ ที่กองทัพอากาศและปวงชนชาวไทยร่วมใจกันสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล และเทอดพระเกียรติในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535
พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "นภพลภูมิสิริ" มีความหมายว่า เป็นกำลังแห่งฟ้าเป็นสิริแห่งดิน
กองทัพอากาศประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2534 เวลา 12 นาฬิกา 29 นาที โดยพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธี การก่อสร้างใช้เวลา 900 วัน สิ้นเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้น 135 ล้านบาท
โดยมีพลอากาศเอก สมศักดิ์ กุศลาศัย เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้าง พลอากาศเอก หม่อมราชวงศ์ ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ก่อสร้าง และตกแต่ง นางไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชยสมบัติ เป็นสถาปนิก นายกัญจนจักก์ สถาปนสุต เป็นวิศวกร
ทางเข้าพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ จุดสูงสุดของบันไดเลื่อน เมื่อลงจากบันไดเลื่อนตรงนี้แล้วก็เดินต่อไปขึ้นบันไดอีกหน่อยก็ถึง
พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล พระพุทธรูปหินหยกสีขาว ที่ประดิษฐานอยู่ในห้องโถง พระมหาธาตุเจดีย์ฯ เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง พระประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้รับพระราชทานนามว่า "พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล" มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคลและทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
กองทัพอากาศได้สั่งจำหลัก พระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ด้วยหินหยกสีขาวบริสุทธิ์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีขนาดความสูง 3 เมตร 20 เซนติเมตร ปั้นแบบ และควบคุมการจำหลักโดยนายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์
กองทัพอากาศได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานและประกอบพิธีพุทธาภิเษกและเบิกพระเนตร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2535 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้ภายในยอดปลี ขององค์พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ
บันไดเลื่อนขึ้นพระมหาธาตุ ปัจจุบันพระมหาธาตุทั้งสององค์มีบันไดเลื่อนอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวขึ้นได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับตอนลงก็ยังคงต้องใช้บันไดเดินลงมา ระหว่างที่บันไดเลื่อนเลื่อนขึ้นไปบนองค์พระมหาธาตุจะมีทางเดินไปชมสวนดอกไม้ได้ด้วย แล้วจึงกลับเข้ามาในบันไดเลื่อนใหม่ เพื่อไปต่อ
พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ พระบรมสารีริกธาตุที่กองทัพอากาศอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีย์ฯ ประกอบด้วย พระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและส่วนที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานให้ ส่วนที่รัฐบาลศรีลังกามอบให้ ส่วนที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ และข้าราชการกองทัพอากาศ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาร่วมอนุโมทนา
มุมนี้ถ่ายจากสวนดอกไม้ของพระมหาธาตุนภเมทนีดล ซึ่งในทำนองเดียวกัน บนพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ก็มองเห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดล บนยอดเขาเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามเหมือนกัน
สวนดอกไม้หน้าพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ การเดินขึ้นไปพระมหาธาตุนภพลภูมิสิรินอกจากจะมีบันได บันไดเลื่อน แล้ว ยังสามารถเดินขึ้นทางสวนที่จัดไว้บนเนินเขามีการทำทางเดินเป็นขั้นบันไดเล็กๆ เรียงขึ้นไป สวนบนเนินเขานี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ทางเข้าพระมหาธาตุนภเมทนีดล กองทัพอากาศ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานแล้วประกอบพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับพระพุทธรูปจำลองเนื้อโลหะ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวน ๙๙๙ องค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พุทธศักราช 2530 โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานครเป็นประธานสงฆ์ พระพุทธรูปทั้ง ๙๙๙ องค์นั้น จารึกชื่อผู้สร้างและได้บรรจุไว้บนพระมหาธาตุฯ แล้ว
พระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ภายในยอดปลีพระมหาธาตุฯ นี้ กองทัพอากาศ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่วนหนึ่ง รับจากพระสังฆมหานายะกะ สิริมัลวัตตะ อนันดา วัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ส่วนหนึ่ง และสมเด็จพระญาณสังวรวัดบวรนิเวศวิหาร อีกส่วนหนึ่ง พลอากาศเอก ประพันธ์ ธุปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศพร้อมด้วยข้าราชการในกองทัพอากาศและครอบครัว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2530 เวลา 7 นาฬิกา 15 นาที
ภายในพระมหาธาตุนภเมทนีดล
พระพุทธรูปในพระมหาธาตุนภเมทนีดล พระพุทธรูปหินแกรนิตที่ประดิษฐานภายในห้องโถงพระมหาธาตุฯ มีขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว สูง 7.3 ฟุต กองทัพอากาศสั่งจำหลักจากประเทศอินโดนีเซีย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "พระพุทธบรมศาสดา นวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์" แปลได้ความว่า "พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดา สร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระชนมพรรษา ๖๐"
ทิวทัศน์รอบพระมหาธาตุนภเมทนีดล วิวตรงจุดนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ในวันที่อากาศเหมาะสมจะเห็นเป็นทะเลหมอกสีขาวหนาไปจนสุดสายตา แต่วันนี้ ช่วงเที่ยงหมอกหายไปหมดแล้ว แต่ก็ยังคงความสวยงามไว้อีกแบบหนึ่่ง
วิวสวยบนยอดเขา
สวนดอกไม้พระมหาธาตุนภเมทนีดล จากด้านหนึ่งของสวนดอกไม้บนพระมหาธาตุนภเมทนีดล จะมองเห็นพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริกับฉากที่เป็นแนวยอดเขา และท้องฟ้าดูสวยงามมาก
พระมหาธาตุนภเมทนีดล มุมมองพระมหาธาตุนภเมทนีดล บนลานดอกไม้ ลานดอกไม้นี้มีความกว้างพอสมควร พื้นที่บนนี้ส่วนกลางปลูกดอกไม้สีสดใสจำนวนมาก มีทางเดินรอบแปลงดอกไม้ ส่วนบริเวณขอบมีป้ายบอกห้ามเข้าเพราะอาจจะตกลงไป หรือเกิดดินทรุดได้
รอบองค์พระมหาธาตุนภเมทนีดล
ทะเลหมอกดอยอินทนนท์ สำหรับในวันที่ท้องฟ้าและสภาพอากาศเป็นใจ จะได้เห็นภาพทะเลหมอกแสนสวยบนดอยอินทนนท์รอบๆ องค์พระมหาธาตุเจดีย์ทั้งสององค์นี้แบบที่เห็นในภาพเป็นภาพจากทริปก่อนๆ หน้าครับ
ภาพหมู่บนหน้าผา ขอบของสวนดอกไม้เป็นทางลาดชันมาก แม้จะไม่เหมือนเป็นผาดิ่งลงข้างล่างแต่ก็น่ากลัวอยู่ดี จบการสำรวจพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ไว้เท่านี้ก่อน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการสะสมภาพสวยๆ แนะนำให้ลองขึ้นไปบนจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งเลยจากทางเข้าพระมหาธาตุไปไม่ไกล น่าจะมีมุมที่มองเห็นพระมหาธาตุทั้งสององค์ได้พร้อมกัน แล้วลองไปช่วงเช้าหรือหัวค่ำ เพื่อให้ได้สภาพแสงสีสวยๆ
เครดิตข่าว touronthai
สำนักงานพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
ตำบล บ้านหลวง อำเภอ จอมทอง เชียงใหม่ 50160
โทร.0643544868
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ illusion.thai@gmail.com