แบบพระมหาธาตุนภเมทนีดล

เพียงฟ้าจดดิน

ในวาระที่กองทัพอากาศ มีอายุครบ ๗๒ ปี ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ นั้น จวบกับวาระมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน ข้าราชการกองทัพอากาศ โดยพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เห็นพ้องกันว่า สมควรร่วมใจบริจาคทรัพย์ทำบุญสร้างอนุสสารณียวัตถุขึ้นเป็นที่ระลึก วาระสำคัญของกองทัพอากาศและเฉลิมพระเกียรติน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในศุภวาระมงคลนี้

การร่วมใจบริจาคทรัพย์ทำบุญสร้างอนุสสารณียวัตถุใดที่จะให้เจริญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ สมกับวาระมหามงคลสมัยพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ รวมทั้งเพื่อเป็นการประกาศพระอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ที่จะทรงครองราชย์มานานเกินกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในวันที่ ๒ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ นี้ คงจะไม่มีสิ่งอื่นใดเทียบเท่าการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กอปรทั้งปวงประชาราษฎร์ต่างเห็นประจักษ์ด้วยเกล้าฯว่า นอกจากจะทรงดำรงฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก โดยเฉพาะทรงช่วยอภิบาลบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสถาพรยิ่งกว่าในกาลรัชสมัยใดแล้ว ยังทรงเจริญพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวดอีกด้วย ทั้งไม่แต่การถวายพุทธสักการะเป็นอามิสบูชา แม้การปฏิบัติบูชาก็ทรงมีพระราชศรัทธาบำเพ็ญภาวนาให้ทรงบรรลุและสำเร็จได้จริงจัง

การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ของกองทัพอากาศ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล จึงเป็นวิธีเดียวที่กองทัพอากาศรำลึกว่า จะฉลองพระเดชพระคุณ อันเปี่ยมล้นได้อย่างสูงสุด แม้จะยังไม่สมกับพระบรมเดชานุภาพ และพระบารมีแห่งพระมหาธรรมราชา ที่แผ่ไพศาลสุดแผ่นดินและจดแผ่นฟ้าก็ตาม สถานที่ซึ่งควรจะประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์นี้ จึงควรสถิตอยู่ ณ จุดที่สูงที่สุดบนแผ่นดินไทยที่กองทัพอากาศสามารถขึ้นไปก่อสร้างได้ เพื่อให้สมกับพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาธิคุณ และพระมหาบริสุทธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้สถิตอยู่สูงสุด และในดวงใจของปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

กองทัพอากาศ จึงพิจารณาเลือกยอดเขาแห่งหนึ่งบนดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นดอยที่มียอดสูงที่สุดของประเทศไทย เป็นสถานที่สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อตามที่กองทัพอากาศขอพระราชทานว่า “พระมหาธาตุนภเมทนีดล” แปลได้ความว่า พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน

บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้ยึดมั่นสักการะบูชา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระรัตนตรัย หรือท่านศาสนิกชนอื่นที่เปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อได้มาเห็นพระมหาธาตุเจดีย์ และรู้เหตุแห่งการสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเสริมบุญญาธิการ ย่อมปิติปราโมทย์อนุโมทนา ตั้งจิตถวายพระพรชัยมงคลอีกทุกครั้งคราว ทั้งย่อมจะเห็นเป็นนิมิตเช่นเดียวกันว่า พระพุทธคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งเดชะบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระมหาธรรมราชาอันยิ่งใหญ่ เพียงฟ้าจดดินนี้ จะคุ้มครองไปตลอดทุกทิศทั่วพระราชอาณาเขต และบันดาลให้อาณาประชาราษฎร์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารมีแต่ความร่มเย็น สมบูรณ์ พูนสุข เจริญรุ่งเรือง มั่นคงวัฒนาสถาพร ปวงปัจจามิตรพ่ายแพ้ไปชั่วนิจนิรันดร์



ภาพถ่ายเฉียงบริเวณสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ถ่ายเมื่อวันที่ ๖ ม.ค. ๓๐ ระยะสูงบิน ๙,๐๐๐ ฟุต
ความเป็นมา

ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้นเกิดความคิดที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์องค์หนึ่งบริเวณพื้นที่ดอยอินทนนท์ สำหรับบรรจุพระบรมธาตุที่ได้รับมอบมา ด้วยประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะได้มีโอกาสสักการะบูชา จึงได้ปรึกษากับพลอากาศโท วรนาถ อภิจารี รองเสนาธิการทหารอากาศ (ยศ-ตำแหน่งในขณะนั้น) ให้ช่วยพิจารณาสถานที่ก่อสร้าง

ในปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๘ พลอากาศโท วรนาถ พร้อมด้วยพลอากาศตรี ประเสริฐ สัชฌุกร ประจำการกองบัญชาการกองทัพอากาศ นาวาอากาศเอก ประสาธน์ ทวีสุข หัวหน้ากองแผนที่และที่ดิน กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ และสถาปนิกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก ๒ คน คือ นางไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชยสมบัติ ได้เดินทางไปพิจารณาเลือกหาสถานที่ก่อสร้าง โดยมีนาวาอากาศเอก วัชระ ยุกตะนันทน์ ผู้บังคับศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์

ในขณะนั้น นำสำรวจและพิจารณาเลือกจากพื้นที่ที่ได้มีการพิจารณาหมายตาจุดที่จะเลือกไว้ก่อนแล้วว่าน่าจะเหมาะสมทั้งในด้านภูมิทัศน์ขององค์พระสถูปเจดีย์เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ภูมิประเทศที่ตั้งสะดวกแก่การสัญจรของพุทธศาสนิกชนที่จะมาสักการะบูชา จากถนนสายจอมทอง-อินทนนท์

คณะสำรวจชุดนั้น ได้พิจารณาเลือกพื้นที่ ๒ แห่ง ซึ่งอยู่บนยอดดอยเล็ก ๆ ที่ทอดยาวขนานถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ ด้านซ้ายมือประมาณกิโลเมตรที่ ๔๑ ที่แห่งแรกอยู่ทางปลายต่ำของดอย ซึ่งหากสามารถทำการก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ได้จะมีความสวยงาม เพราะจะสามารถมองเห็นองค์พระสถูปเจดีย์ได้แต่ไกลมาก ทั้งยังอยู่ติดถนนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พื้นที่ยอดดอยมีลักษณะเป็นสัน-แคบ ทำให้มีพื้นที่ที่จะก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์อย่างจำกัด จึงได้พิจารณาพื้นที่แห่งที่สองซึ่งอยู่บนแนวเดียวกัน เลยจากแห่งแรกขึ้นไปทางปลายด้านสูงและไม่ห่างจากถนนจนเกินไป พื้นที่แห่งที่สองนี้กว้างพอที่สามารถปรับไห้เป็นที่ตั้งองค์พระสถูปเจดีย์ได้ คณะสำรวจจึงได้ตกลงใจจะเลือกพื้นที่แห่งที่สองเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้าง โดยจะให้กองแผนที่และที่ดินกรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ขึ้นไปทำการสำรวจหารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาให้แน่นอนต่อไป

ในปลายเดือนธันวาคม ๒๕๒๘ คณะสำรวจหารายละเอียด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ (กบ.ทอ.) และกรมช่างโยธาทหารอากาศ (ชย.ทอ.) คือ

  • นาวาอากาศเอก ประสาธน์ ทวีสุข (กบ.ทอ.)
  • นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง (ชย.ทอ.)
  • นาวาอากาศโท วิสูตร ชาคริตภานุ (กบ.ทอ.)
  • นาวาอากาศตรี ธวัช ภู่โกสีย์ (ชย.ทอ.)
  • เรืออากาศเอก บุญลือ สุวรรณ (กบ.ทอ.)
  • เรืออากาศโท อภิรัฐ อุทัยวรรณ (ชย.ทอ.)
  • เรืออากาศตรี ณัฐ วิบูลย์ศิลป์ (ชย.ทอ.)
  • เรืออากาศตรี สายยันต์ มากผล (กบ.ทอ.)
  • จ่าอากาศเอก ศุกร์สม คลองน้อย (ชย.ทอ.)

ได้เดินทางไปสำรวจหาข้อมูลรายละเอียดพื้นที่ที่คณะสำรวจชุด พลอากาศโท วรนาถ ได้ตกลงใจกำหนดที่พิกัดเลือกไว้ หรือพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ เส้นรุ้ง ๑๘-๓๓ น. เส้นแวง ๙๘ -๒๙ อ. ที่ระดับความสูง ๒,๑๔๖ ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ห่างจากศูนย์ควบคุมรายงานดอยอินทนนท์ ลงมาตามถนนประมาณ ๗ กิโลเมตร หรือประมาณกิโลเมตรที่ ๔๑.๕๒๘ ของถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ ห่างจากแนวถนนด้านซ้ายมือประมาณ ๒๐๐ เมตร)

คณะสำรวจรายละเอียดพื้นที่ได้แบ่งมอบงานสำรวจออกเป็น ๒ ส่วน คือ สำรวจรายละเอียดข้อมูล เพื่อประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่จากจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสำรวจรายละเอียดเพื่อการออกแบบก่อสร้าง ถนน-สะพาน-ลานจอดรถยนต์ และบริเวณก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ การสำรวจต้องใช้เวลาหลายวัน คณะสำรวจต้องบุกป่า ขึ้นเขา ลงห้วยด้วยความยากลำบาก และสำเร็จเรียบร้อยได้รายละเอียดครบถ้วนในเดือนมกราคม ๒๕๒๙ (ยกเว้นบริเวณสร้างสะพานและองค์พระสถูปเจดีย์ เพราะจะต้องทำการเจาะดินเพื่อออกแบบฐานราก ในเรื่องนี้ต่อมาได้ทำการสำรวจเจาะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๙)

คณะสำรวจซึ่งมีพลอากาศโท วรนาถ เป็นหัวหน้าคณะ ได้ตกลงใจเลือกพื้นที่ที่ได้ข้อมูลรายละเอียดนี้ สำหรับก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ ตามวัตถุประสงค์ของผู้บัญชาการทหารอากาศ ด้วยเหตุผลทั้งในด้านทัศนียภาพขององค์พระสถูปเจดีย์เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ทั้งในด้านการสัญจรของพุทธศาสนิกชนที่จะเข้าไปสักการะบูชาและที่สำคัญที่สุดในด้านการทำลายสิ่งแวดล้อม ต้นน้ำ หรือลำธารในเขตอุทยานแห่งชาติ ในที่สุดพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เห็นชอบตามที่คณะสำรวจเสนอ และไห้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ดำเนินการออกแบบองค์พระสถูปเจดีย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ตลอดจนเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ต่อไป

สำหรับกรมช่างโยธาทหารอากาศ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับรายละเอียดข้อมูลแล้ว ได้เริ่มออกแบบก่อสร้าง ถนน-ลานจอดรถยนต์ พร้อมทั้งประมาณค่าก่อสร้างในส่วนนี้ และประมาณค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่บริเวณยอดดอยที่จะสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ เสร็จในเดือนมีนาคม ๒๕๒๙



การขออนุญาตใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง

การจะก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จำเป็นจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก่อน ในเรื่องนี้กองทัพอากาศได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เรียนอธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณที่ได้เลือกไว้ว่าจะก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ พร้อมด้วยสะพาน ถนน และลานจอดรถยนต์เป็นพื้นที่ประมาณ ๑๘ ไร่ ๒ งาน ๔๕ ตารางวา ต่อมา กรมป่าไม้ได้ส่งเรื่องให้ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบข้อมูลเพื่อรายงานให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติประชุมพิจารณาอนุญาต เมื่อกรมป่าไม้ได้รายละเอียดตามประสงค์แล้ว ได้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ ๓/๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้กองทัพอากาศดำเนินการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พื้นที่ที่ขออนุญาตได้ นอกจากนั้น กองทัพอากาศยังได้มีข้อสังเกต ชี้แจง รายละเอียดเพิ่มเติมให้กรมป่าไม้ทราบอีก เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๙

ต่อมา กองทัพอากาศยังได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๙ เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ไปให้เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แจ้งอธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ ว่าเห็นชอบกับรายงานฯ ที่ได้เสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมาตรการการติดตามตรวจสอบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาเรื่องนี้และเห็นชอบด้วยกับมติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ข้อเสนอของกรมป่าไม้ และเห็นชอบกับรายงานฯที่ได้เสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมกับมาตรการการติดตามตรวจสอบ จึงเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๐ และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๐ ลงมติเห็นชอบด้วยในหลักการ อนุญาตให้กองทัพอากาศใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพื่อก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้


วัตถุประสงค์ในการสร้างพระสถูปเจดีย์ ฯ

ภาพถ่ายเฉียงบริเวณสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ถ่ายเมื่อวันที่ ๖ ม.ค. ๓๐ ระยะสูงบิน ๙,๐๐๐ ฟุต

ในขั้นแรก ผู้บัญชาการทหารอากาศมีแนวความคิดที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีขนาดพอสมควร เมื่อแรกดำเนินการ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๒๙ ก่อน ต่อมาหลังจากที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่บุกเบิกพื้นที่เข้าไปดำเนินการแล้ว ประมาณปลายเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ กองทัพอากาศได้พิจารณาเห็นว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร องค์จอมทัพไทย จะเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๐ ประจวบกับกองทัพอากาศจะมีอายุครบ ๗๒ ปี ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๐ จึงเห็นเป็นมงคลวโรกาสที่จะรวมพลังศรัทธาสามัคคีชาวกองทัพอากาศช่วยกันบริจาคทรัพย์ สร้างพระมหาสถูปเจดีย์นี้ขึ้นให้สวยงามเป็นพิเศษและน้อมเกล้าฯ ถวาย พระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ จึงสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลายประการ ดังนี้

  • ๑. เพื่อเป็นพระบรมธาตุเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ น้อมเกล้าฯ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสที่จะมีพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา
  • ๒. เพื่อสร้างถาวรวัตถุเนื่องในโอกาสที่กองทัพอากาศมีอายุครบ ๗๒ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐
  • ๓. เพื่อเป็นปูชนียสถานในการเชิดชู สืบทอดพระศาสนาให้เจริญถาวรต่อไป
  • ๔. เพื่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สำหรับสร้างศรัทธาดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม
  • ๕. เพื่อเป็นศูนย์รวมน้ำใจในความสามัคคีของเหล่าทหาร และประชาชนที่มีต่อองค์พระประมุขของชาติและจอมทัพไทย

เนื่องจากวัตถุประสงค์เป็นเช่นนี้ ในการหาทุนทรัพย์เพื่อการก่อสร้าง กองทัพอากาศจึงบอกบุญเฉพาะข้าราชการ ลูกจ้าง และครอบครัว ภายในกองทัพอากาศให้ร่วมแรง ร่วมใจ ทำบุญตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ ตามระยะเวลาที่สามารถบริจาคได้ เพื่อสำแดงความจงรักภักดี และความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกองทัพอากาศ ในโอกาสสำคัญ ๒ วาระ ที่บังเกิดในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ขึ้นพร้อมกันการหาทุนทรัพย์เฉพาะน้ำพักน้ำแรงของชาวกองทัพอากาศทุกคนนี้ ต่อมาในที่สุดปรากฏว่าหาได้มียอดสูงถึง ๒๕ ล้านบาทเศษ



การบุกเบิกพื้นที่

เมื่อกองทัพอากาศ ได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ก้าวหน้าไปจนมั่นใจว่า บุคคลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นอกกองทัพอากาศสามารถให้ความร่วมมือที่จะผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จลงได้โดยไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้องใด ๆ และแม้จะยังไม่ปรากฏเป็นเอกสารหลักฐานทางราชการใด ๆ ยืนยันก็ดี กองทัพอากาศเห็นว่าเวลาในการก่อสร้างและจัดดำเนินการให้เสร็จทันกำหนดเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ กองทัพอากาศมีจำกัด จึงเร่งรัดส่งชุดเจ้าหน้าที่กรมช่างโยธาทหารอากาศจำนวน ๑๗ คน มีนาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง เป็นหัวหน้าชุด พร้อมด้วยเครื่องทุ่นแรง เข้าไปยังพื้นที่ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๙ โดยยังไม่สามารถประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข่าวสารต่อข้าราชการกองทัพอากาศ หรือสาธารณชนแต่อย่างใด

  • ชุดเจ้าหน้าที่นี้ไปสร้างที่พักแรมชั่วคราวที่กิโลเมตร ๓๑ ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ มีรถถากถาง รถปรับระดับ รถขุด รถบดตีนแกะ รถบดล้อเหล็ก และรถตัก ชนิดละ ๑ คัน พร้อมทั้งรถบรรทุกเทท้าย อีก ๒ คัน รวมทั้งสิ้น ๘ คัน
  • ชุดบุกเบิกพื้นที่นี้ต่อมาสามารถตัดดิน-ปรับพื้นดินบริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ประมาณวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ รายละเอียดของความยากลำบากของการดำเนินการจะมีในบทต่อไป
การดำเนินการเป็นโครงการ

นับตั้งแต่กองทัพอากาศได้เกิดความคิดริเริ่มที่จะก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณดอยอินทนนท์ ในค่อนปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นต้นมา กองทัพอากาศได้เตรียมการและวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อม และแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ตามลำดับ จนถึงขั้นที่ส่งชุดเจ้าหน้าที่ชุดบุกเบิกเข้าไปยังพื้นที่ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๙ เป็นเวลา ๗-๘ เดือน เพื่อตัดเนินดินและปรับพื้นที่ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างจริงจัง


ภาพถ่ายดิ่งบริเวณสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๒๙ มาตราส่วน ๑:๘,๐๐๐

ต่อมา กองทัพอากาศ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ โดยมี พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป พร้อมกันนั้น ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก ๓ คณะ คือ คณะอนุกรรมการจัดหารายได้ มี พลอากาศโท วีระ กิจจาทร ผู้ช่วยเสนาธิการ ทหารอากาศฝ่ายการข่าว เป็นประธานฯ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มี พลอากาศโท พิศิษฐ์ ศรีกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายกำลังพล เป็นประธานฯ และคณะอนุกรรมการควบคุมการก่อสร้างและตกแต่ง มี พลอากาศโท เกริกชัย หาญสงคราม เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ เป็นประธานฯ คณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ได้เริ่มดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ เป็นต้นมา

นอกจากนั้นแล้ว กองทัพอากาศ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๙ ถึงประธานคณะกรรมการฝ่ายรัฐ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขออนุมัติโครงการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโครงการและกิจกรรมที่เข้าหลักเกณฑ์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อนุมัติเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐

การที่วาระอันสำคัญของสถาบันสำคัญของชาติ บ้านเมืองมาครบรอบพร้อมกันในปีเดียวกันเช่นนี้ นับเป็นโอกาสที่หาได้ยาก และจะต้องรอคอยเป็นเวลานาน และเมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็มิได้ปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไป แต่ได้บังเกิดความคิดจากจิตอันเป็นกุศลทีละน้อย ๆ จนสามารถก่อสร้างได้ใหญ่โตเพียงฟ้าจดดิน หากจะพิจารณาย้อนเพื่อทบทวนเหตุการณ์แล้ว น่าฉงนสนเท่ห์ไม่น้อยว่า พระมหาสถูปเจดีย์นี้คงจะมีใครกำหนดไว้ก่อนแล้วว่าจะต้องให้มีให้สร้างขึ้นบริเวณดอยอินทนนท์เพื่อเป็นนิมิตของความร่มเย็นเป็นสุขแห่งราชอาณาจักรไทย และเสริมพระบารมีองค์พระประมุขผู้ทรงคุณธรรม อันประเสริฐสุดให้ยิ่งใหญ่ไพศาล จึงได้ดลจิตใจและให้เหตุการณ์วิวัฒนาการมาจนสำเร็จได้ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดินเช่นนี้

จึงเกินปัญญาที่จะคิด ยากแสนยากที่จะหาโอกาสได้เช่นนี้ เพื่อสามัคคีทำบุญสร้างถวายล้นเกล้าฯ ของเราชาวไทย



งานบุกเบิกพื้นที่ปรับดิน สร้างลานจอดรถและสะพาน

เมื่อคณะชุดเจ้าหน้าที่บุกเบิกพื้นที่ จำนวน ๑๗ คน ซึ่งมี นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง เป็นหัวหน้าชุดพร้อมด้วยเครื่องทุ่นแรง รวมทั้งหมด ๘ คัน ได้เข้าสู่พื้นที่สร้างพักแรมชั่วคราวที่กิโลเมตร ๓๑ ถนนสาย จอมทอง-อินทนนท์ เรียบร้อย ได้ลงมือปฏิบัติงานทันที

นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง ได้เล่าเรื่องงานส่วนนี้ไว้ดังที่ได้นำมาตีพิมพ์ไว้แล้ว ดังนี้

ประมาณต้นเดือน พฤษภาคม ๒๕๒๙ กรมช่างโยธาทหารอากาศก็ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการก่อสร้างเฉพาะถนนและลานจอดรถยนต์ และตัดเนินที่จะสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ฯได้ กรมช่างโยธาทหารอากาศ จึงได้เคลื่อนย้ายกำลังพลและเครื่องทุ่นแรงไปสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว ที่บริเวณหมวดการทาง ก.ม.๒๑ ถนนจอมทองอินทนนท์ การเคลื่อนย้ายได้แล้วเสร็จเมื่อประมาณวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เจ้าหน้าที่จึงได้เริ่มลงมือปฏิบัติงาน กำลังพลและเครื่องทุ่นแรงที่ใช้นั้น มีดังนี้

  • นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง
  • เรืออากาศเอก สวัสดิ์ มีมั่ง
  • เรืออากาศโท อภิรัฐ อุทัยวรรณ
  • เรืออากาศตรี ณัฐ วิบูลย์ศิลป์
  • พันจ่าอากาศเอก เสถียร ทองทวี
  • พันจ่าอากาศเอก ณรงค์ ปฐมบัญญัติ
  • จ่าอากาศเอก วิรัช แต้มทอง
  • จ่าอากาศเอก บุญเกิด ศิริโภคา
  • จ่าอากาศเอก วีระศักดิ์ สมาการ
  • นายจำรัส บำรุงถิ่น
  • นายสมจิต สวนะปรีดี
  • นายสำรอง มโนศิลป์
  • นายประสิทธิ์ เริ่มน้อย
  • นายเสวก พลับนิล
  • นายเทียนชัย ประพัฒน์ทอง
  • นายจรูญ เจริญผ่อง
  • นายจำนงค์ บรรจงศิลป์

เครื่องทุ่นแรงที่ใช้

  • รถถากถาง (Bulldozer) ๑ คัน
  • รถเกลี่ย (Grader) ๑ คัน
  • รถขุด (Excavator) ๑ คัน
  • รถบดตีนแกะ (Sheep Foot) ๑ คัน
  • รถบดล้อเหล็ก (Roller) ๑ คัน
  • รถตัก (Pay Loader) ๑ คัน
  • รถบรรทุกเทท้าย (Dump Truck) ๒ คัน

ก่อนที่จะเริ่มงาน กระผม (นาวาอากาศเอก สมบัติ) และคณะ ก็ไปทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าป่า เจ้าเขา และโดยเฉพาะศาลเจ้าพ่อดอยอินทนนท์ (พระเจ้าอินทรวิชยานนท์) และศาลท่านเจ้ากรมเกียรติ มังคละพฤกษ์ (พลอากาศโท เกียรติ มังคละพฤกษ์ ถึงแก่กรรมด้วยเฮลิคอปเตอร์อุบัติเหตุ ณ ดอยอินทนนท์) ตามธรรมเนียมของการทำลายพื้นที่ที่เป็นป่าเขา

ถนนที่จะสร้างขึ้นไปยังองค์พระสถูปเจดีย์ฯ นั้น มีความยาวประมาณ ๑๗๕ เมตร กว้าง ๔ เมตร ไหล่ทางข้างละ ๑ เมตร ลาดยางแบบ DBST. ลานจอดรถขนาด ๔๐×๔๐ เมตร ลาดยางแบบ DBST. ด้วย และจะต้องผ่านป่าทึบและลำธาร โดยแยกจากถนนจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ที่ กม.๔.๑.๕๐๐ ไปทางด้านซ้ายมือที่เป็นเนินเขาที่เด่นอีกลูกหนึ่งซึ่งชันมาก จึงต้องหาทางนำรถถากถางขึ้นไปที่เนินให้ได้ เพื่อจะได้สามารถปรับพื้นดินบริเวณเนินเขาที่จะสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ฯ ได้เรียบ และอีกอย่างหนึ่งการสร้างถนนบนภูเขานั้น การตัดดินบนภูเขาจะต้องตัดจากที่สูงลงมาหาที่ต่ำ

เนื่องจากบริเวณที่รถจะไต่ขึ้นไปนั้นเป็นทางชัน และต้องผ่านลำธาร จึงต้องทำทางลำลองขึ้นไป เพราะลำพังตัวรถเองไม่สามารถไต่ขึ้นไปได้ การทำทางลำลองนั้นกว่าจะทำผ่านลำธารและตัดตรงไปถึงเนินที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์ฯ ก็ทำกันด้วยความลำบาก เพราะดินบริเวณเขานี้จะมีแต่ใบไม้ หญ้าเน่าปกคลุม พอรถไต่ขึ้นไปได้บ้างก็จะลื่นลงมาเสมอ และหนำซ้ำเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน บางวันฝนตกลงมาบ้างก็ต้องหยุด กว่าทางลำลองจะเสร็จและไต่ขึ้นไปได้ ก็กินเวลาประมาณเกือบ ๒ อาทิตย์ คือ จากวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ถึง ๑ มิถุนายน แล้วจึงได้เริ่มตัดเนินดินบริเวณที่จะสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ฯ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๙

เนินแห่งนี้เป็นเนินที่ไม่มีต้นไม้เลย (คาดว่าพวกแม้วคงถางทิ้งแล้วปลูกฝิ่น) สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๑๔๖ เมตร สูงจากถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ประมาณ ๔๐ เมตร พื้นที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ตารางเมตร ตัดลึกโดยเฉลี่ยประมาณ ๖ เมตร ที่จะตัดตักดิน-ปรับให้อยู่ในสภาพเรียบสามารถสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ฯ ได้

บริเวณองค์พระสถูปเจดีย์ฯ จะอยู่ด้านหน้าของเนินเพราะสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบ ๆ ได้สวยงาม ไม่ว่าจะมองลงไปทางอำเภอแม่แจ่ม หรืออำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และทำนองเดียวกัน เมื่ออยู่บนถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ประมาณ กม.๓๘.๕๐๐ จะมองเห็นบริเวณเนินแห่งนี้เด่นมาก นี่เป็นสาเหตุที่ท่านได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้

การตัดดินบนเนินนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะเดือนมิถุนายนนี้ มีฝนตกเกือบทุกวัน พร้อมทั้งมีลมแรงขนาด ๔๐ ถึง ๕๐ นอต ตลอดเวลา มีละอองฝนทำให้พวกทำงานต้องใส่เสื้อหนาวกันทั้งวัน พอวันไหนฝนตกก็ต้องหาทางหลบฝนกันใต้เพิงที่ปลูกไว้ การใช้เครื่องทุ่นแรงถากถาง ก็กลัวอุบัติเหตุ การเติมเชื้อเพลิง ก็ต้องใช้ลูกหาบลำเลียงจากถนนมาเติมบนเนิน เพราะทางลำลองที่ทำไว้ลื่น ไม่สามารถจะเอารถลงมาเติมเชื้อเพลิงข้างล่างได้

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะพนักงานขับ (นายประสิทธิ์ เริ่มน้อย) กำลังตัดดินอยู่ ซึ่งกระผม (นาวาอากาศเอก สมบัติฯ) และอีกหลายคน ก็คอยเฝ้าและควบคุม เพราะกลัวอุบัติเหตุ แต่ก็ไม่วายเกิดขึ้นจนได้ คือ ขณะที่ผมคล้อยหลังมาคุยกับพวกๆ ที่ทำงาน เพื่อจะอธิบายเรื่องงานต่าง ๆ เมื่อหันกลับไปก็พบว่า รถถากถางเกือบจะตกลงไปในเหวทางด้านอำเภอแม่แจ่มเสียแล้ว สาเหตุก็เพราะดินเปียก รถถากถางหนัก เมื่อไปถากถางอยู่ริมเขา จึงทำให้ดินไหลลงไป แต่ก็ยังดีที่สามารถใช้ใบมีดและคราดยันกับดินเอาไว้ได้ก่อน ขณะนั้นฝนก็ทำท่าจะตก กระผมรู้สึกใจไม่ดีเลย เพราะถ้าฝนตกดินจะไหล อาจทำให้ดินไหลและรถตกลงไปได้ รถถากถางคันนี้มีราคาประมาณ ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าตกลงไป ผมก็หมดความหมายในชีวิตราชการแน่

ผมก็ได้แต่บนบานศาลกล่าว เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าพ่อดอยอินทนนท์ ตลอดเวลา แล้วก็หาทางเอารถทุ่นแรงคันอื่นมาช่วยลากจูง จนกระทั่งสามารถลากจูงรถถากถางขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่รถคันที่ใช้ลากนั้นเล็ก ก็สามารถลากจูงขึ้นมาได้เหมือนปาฏิหาริย์ และโดยไม่มีทีท่าว่าจะไหลตกลงไปอีกเลย ผมจึงโล่งอกไปที และยกมือท่วมหัวโดยหันไปทางเจ้าพ่อดอยอินทนนท์ ต่อจากนั้นการตัด-ปรับดินก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น จนกระทั่งปรับ-ตัดดินบนองค์พระสถูปเจดีย์ฯ แล้วเสร็จเมื่อประมาณวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือน แต่เวลาที่ทำจริง ๆ นั้นประมาณ ๒ อาทิตย์เท่านั้นเอง เพราะอุปสรรคจากลม ฟ้า อากาศ และอื่น ๆ มากมายเหลือเกิน

เมื่อเสร็จจากบนลานพระสถูปเจดีย์ฯ แล้วจึงกลับมาปรับดินบริเวณลานจอดรถยนต์และถนนต่อ ขณะนั้นเข้าหน้าฝนมากแล้วฝนตกแทบทุกวัน การทำงานก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะถ้าวันไหนฝนไม่ตก ก็มีเมฆ ละอองฝน รวมทั้งหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลา ขนาดยืนอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ เมตร ยังมองไม่เห็นกันเลย แต่พวกผมกทำกันเรื่อย ๆ มา จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๓๐ ก็ปรากฏว่า งานดินเสร็จเรียบร้อย เหลือแต่งานลงหินคลุกและลาดยาง และพร้อมที่จะใช้เป็นเส้นทางส่งวัสดุขึ้นไปก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ฯ ได้ถ้าหากฝนไม่ตก

ขณะนั้น การออกแบบงานสะพานเสร็จ และได้รับงบประมาณแล้ว จึงต้องหันกลับมาเริ่มงานสะพาน และได้ลงมือถากถางและขุดฐานตัวแรก เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๙ โดยได้สับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ชุดทำถนนบางคนเพราะจะต้องใช้ช่างปูน ช่างไม้ ช่างเหล็ก มาทำการก่อสร้าง

สำหรับเจ้าหน้าที่ช่าง เพิ่มเติมดังนี้

  • เรืออากาศเอก สุนทร พุทรา
  • พันจ่าอากาศเอก พนม นกแก้ว
  • นายจีน นกแก้ว
  • นายละม่อม ศรีคร้าม
  • นายจำลอง เพชรอินทร์
  • นายวิชัย ร่มเย็น
  • นายวิชัย ก้อนนาค
  • นายสำเนา ปานเถื่อน
  • นายประเสริฐ ภู่มา
  • นายทรัพย์ บรรจงศิลป์

สะพานนี้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาวทั้งสิ้น ๓๖.๐๐ เมตร กว้าง ๖ เมตร มีทางเท้าข้างละ ๑ เมตรแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง ช่วงแรกและช่วงสุดท้ายช่วงละ ๓ เมตร ส่วนช่วงกลางช่วงละ ๑๖ เมตร ฐานรากทั้งหมดไม่มีเสาเข็มรองรับ แต่เป็นฐานแผ่และวางอยู่บนหินซึ่งลึกลงไปประมาณ ๓-๕ เมตร ความสูงของสะพานจากระดับใต้ท้องลำธารถึงพื้นสะพาน ประมาณ ๑๒ เมตร

การก่อสร้างใช้เจ้าหน้าที่ช่างประมาณ ๑๐ คน และกรรมกรอีกประมาณ ๑๒ คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมงานประมาณ ๒๕ คน เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา ๗.๓๐ น. เลิก ๕ โมงเย็น แต่บางครั้งงานติดพันเลิกถึง ๒ ทุ่ม การทำงานในช่วงนี้มีฝนตกบ้าง แต่ไม่มากนัก และไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เริ่มการขุดฐานรากตัวแรก พร้อมเทคอนกรีตฐานราก และเสาขึ้นไปรับพื้นสะพานจากตัวที่๑, ๒ และ ๓ เรื่อยไป จนกระทั่งถึงฐานรากตัวที่ ๔ หรือตัวสุดท้าย เมื่อขุดหลุมฐานรากเสร็จ จะต้องวางตะแกรงเหล็กเป็นเหล็กเสริมสำหรับฐานราก ตะแกรงเหล็กได้ผูกไว้เรียบร้อยแล้ว และจะต้องใช้คนประมาณ ๘ คน ยกจึงจะไหว จึงได้ใช้รถขุดตีนตะขาบยกแทน และทุกครั้งที่ยกก็ใช้รถขุดตีนตะขาบ การยกเหล็กตะแกรงนั้นยากลำบาก เพราะมีความกว้าง ๒.๕๐ เมตร และยาวถึง ๗ เมตร ถ้ายกไม่ดีจะทำให้แกว่งไปมาได้ เพราะคันยกของรถสูงและใช้ลวดสลิงแขวนลงมาที่เหล็ก กระผมให้ เรืออากาศเอก สุนทร และเจ้าหน้าที่ ช่างช่วยกันจัดการ จนกระทั้งยกเสร็จ และจะต้องนำไปวางที่หลุมฐานราก ซึ่งห่างไปประมาณ ๒๐ เมตร

ขณะที่รถยกกำลังเดินทางไป (เรืออากาศเอก สุนทร ได้ไปสั่งงานด้านอื่น ส่วนกระผมนั้นได้ไปดูแลงานด้านอื่น) ปรากฏว่า ตะแกรงเหล็กแกว่งมาก พนักงานขับรถจึงหยุดรถ เพื่อให้ตะแกรงเหล็กหยุดนิ่งก่อน แล้วจึงเคลื่อนรถต่อ แต่ตะแกรงเหล็กยังไม่นิ่งดี ช่างเหล็ก (นายสำเนา ปานเถื่อน) จึงกระโดดลงไปจับตะแกรงเหล็กให้นิ่ง แต่พื้นที่ที่โดดลงไปนั้นเป็นที่ลาดชัน จึงตกลงมา ขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ รถขุดตีนตะขาบจึงทับ นายสำเนา ปานเถื่อน รถวิ่งทับบนร่างประมาณครึ่งตัว ก็มีเสียงร้องจากหลายคนดังขึ้น รถที่ทับก็เลยถอยหลัง ผมซึ่งทำงานอยู่อีกที่ จึงวิ่งมาดูเห็นหน้าซีดหมด (ผมใจหายนึกในใจว่าเรามาสร้างบุญ กลับจะได้บาป แต่ก็ยังใจดีและนึกถึงเจ้าพ่อดอยอินทนนท์อยู่ตลอดเวลา) จึงได้นำไปที่ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์เพื่อปฐมพยาบาล แล้วนำไปที่โรงพยาบาลจอมทอง ตรวจ และ X-Ray ปรากฏว่า กระดูกก้นกบเคลื่อน ส่วนอื่น ๆ ไม่เป็นอะไร (กระผมสบายใจมาก) แต่ต้องนอนพักให้กระดูกเข้าที่ประมาณ ๑ เดือน ผมก็ให้พักที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ จนกระทั่งหายแล้วส่งกลับ ผมคิดเสมอว่า การสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ฯ นี้เป็นผลบุญที่ดี อุบัติเหตุที่ได้รับทั้งสองครั้งไม่เป็นอะไรเลย

ส่วนงานสร้างสะพานก็ดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งฐานรากแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ และเทพื้นสะพานพร้อมทางเท้าและราวสะพาน พร้อมงานส่วนอื่นเสร็จเรียบร้อย และเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๙ งานสะพานใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑,๙๒๓, ๔๙๓.๐๐ บาท

เมื่อเสร็จงานสร้างสะพานแล้ว จึงกลับมาเริ่มงานถนน-ลานจอดรถที่ยังค้างไว้ โดยการปรับระดับชั้นรองฐานและทำชั้นฐานใหม่ แล้วราดยางผิวเป็นแบบ DBST. (ราดยางสองชั้น) พร้อมทั้งสร้างทางระบายน้ำคอนกรีตข้างถนน จนกระทั่งแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๖๙๕,๖๖๙.๐๐ บาท รวมงานถนน-ลานจอดรถ และสะพาน เป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๖๑๙,๑๖๒.๐๐ บาท (สองล้านหกแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยหกสิบสองบาทถ้วน) และได้ย้ายเครื่องมือและกำลังพลกลับ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๐ เป็นอันว่างานเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ทุกประการ สามารถเปิดใช้ได้ โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ




เรื่องการเข้าปฏิบัติงานบุกเบิกพื้นที่ ปรับดิน-สร้างลานจอดรถ และสร้างสะพานที่นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง เล่าไว้ให้ทราบนี้ จะทำให้เห็นภาพของความยากลำบากในการปฏิบัติงานได้อย่างดี อีกหลายสิบปีจึงจะมีงานเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมปฏิบัติงานทุกคนมีความภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานเป็นผลสำเร็จ

คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ฯ เชื่อมั่นว่าผู้ที่ได้เข้าไปบุกเบิกพื้นที่ดังกล่าวนี้ ทุกคนได้บุญและอานิสงส์อันมหาศาล

พระมหาธาตุนภเมทนีดล

สถาปนิกผู้ออกแบบองค์พระมาสถูปเจดีย์ฯ

เมื่อ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี เป็นหัวหน้าคณะชุดสำรวจพื้นที่ไปพิจารณาสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ฯ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๘ นั้น หัวหน้าคณะได้เชิญนางไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชยสมบัติ สองสถาปนิกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมไปในคณะชุดสำรวจพื้นที่ของกองทัพอากาศด้วย ในการที่ได้เลือกสถาปนิกทั้งสองคนเข้ามาร่วมงานก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ฯ นี้ก็เนื่องด้วยสถาปนิกทั้งสองมีความรู้และความสามารถเชื่อถือได้ เพราะมีผลงานในลักษณะปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนามาก่อนแล้วหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ท่านอาจารย์ มั่นภูริทัตโต แห่งวัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อนุสรณ์สถานท่านอาจารย์ ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร และอุโบสถ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

นางไขศรี ตันศิริ ผู้อำนวยการกองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข ได้เลือกนายสันติ ชยสมบัติ สถาปนิก ๖ กองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาปนิกร่วมงาน และนายกัญจน์จักก์ สถาปนสุตวิศวกร ๗ กองแบบแผนกระทรวงสาธารณสุข เป็นวิศวกร ทั้ง ๓ คนนี้ได้ร่วมงานการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ด้วยความยินดี และไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น นับตั้งแต่การเริ่มสำรวจพื้นที่ ออกแบบ คำนวณโครงสร้าง กำกับดูแลการก่อสร้างแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการก่อสร้าง นับตั้งแต่ริเริ่มงานที่มีขอบเขตจำกัด จนได้ขยายขึ้นจนเป็นพระมหาสถูปเจดีย์องค์ใหญ่

งานออกแบบองค์พระมหาสถูปเจดีย์ สถาปนิกและวิศวกรได้แบ่งงานออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนโครงสร้าง และส่วนประดับตกแต่ง งานส่วนโครงสร้างจะใช้เวลาการก่อสร้าง ๒๘๕ วัน ประมาณราคาค่าก่อสร้าง ๑๗,๕๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท งานส่วนตกแต่งและประดับองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ใช้เวลาทำงาน ๒๔๐ วัน ประมาณราคา ๒๔,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท งานทั้งสองส่วนนี้ ในแนวความคิดของการก่อสร้าง ต้องการจะให้แล้วเสร็จให้ทันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

แนวความคิดในการออกแบบ

ในการออกแบบองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ได้กำหนดแนวความคิดที่สำคัญ คือ ให้องค์พระมหาสถูปเจดีย์มีความสูงจากพื้นราบที่สัญจรหรือลานจอดรถ ถึงปลายยอดพระมหาสถูปเจดีย์ ๖๐ เมตร เพื่อเป็นนิมิตหมายถึงการสร้างเมื่อพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา

ส่วนรูปองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ให้มีความหมายเกี่ยวกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตลอดจนมีองค์ประกอบอื่นที่แสดงอดีตชาติและพุทธประวัติพระพุทธเจ้าโดยย่อ พร้อมทั้งแสดงรูปทรงเจดีย์และฐานให้มีรูปลักษณะหนักแน่นมั่นคงแข็งแรง มีท่วงท่าสง่าแบบทหารที่สงบนิ่ง ทั้งมีเครื่องหมายแสดงลักษณะผู้สร้างไว้ให้ปรากฏด้วย ทั้งนี้ จึงได้ทำเป็นรูประฆังเหลี่ยมคว่ำ ให้หมายถึงความพากเพียรแสวงหาพระปรมัตถธรรมของพระพุทธเจ้าอันก้องกังสดาลพึงรับรู้กันทั่ว ปานประหนึ่งเสียงของระฆัง โดยเน้นการใช้เส้นที่ตรงไปตรงมา ตัดเป็นเหลี่ยม แสดงความหนักแน่น รูปทรงสัณฐานพระมหาสถูปเจดีย์นี้จึงมีลักษณะแตกต่างจากรูปแบบของศิลปะในอดีต ทั้งของล้านนาและของภาคกลางเป็นสถาปัตยกรรมใหม่อีกชิ้นหนึ่งบนที่สูงที่สุดของประเทศไทย

ความหมายในรูปทรงและส่วนประกอบ

ส่วนองค์พระมหาสถูปเจดีย์มีสัณฐานทรงระฆัง ๘ เหลี่ยม มีลวดลายแบ่งออกให้เห็นเป็น ๓ ช่วง แทนพระบารมี ๓ ขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ อันประกอบด้วย บารมีขั้นแรก ๑๐ ขั้น หมายถึง ช่วงล่าง อุปบารมี ๑๐ ขั้น หมายถึง ช่วงกลาง และปรมัตถบารมี ๑๐ ขั้น หมายถึง ช่วงบน เมื่อทรงบำเพ็ญได้ทั้งหมด เรียกบารมีนี้ว่า บารมี ๓๐ ทัศ

ส่วนเหนือรูปทรงระฆัง เป็นรูปบัวหงาย ๘ กลีบ แสดงสัญลักษณ์ของมรรคซึ่งมีองค์ ๘ นับต่อขึ้นไปจากส่วนที่หมายรู้ว่าบารมี

ส่วนบนสุดขององค์พระมหาสถูปเจดีย์ มีรูปทรงเป็นยอดปลี ซึ่งหมายถึงการตรัสรู้ สู่พระปรินิพพาน และที่ปลายยอดปลีกั้นด้วยฉัตรโลหะสีเงิน ๙ ชั้น

ส่วนพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งขององค์พระมหาสถูปเจดีย์ได้ออกแบบให้เป็นพื้นระเบียงหรือลานรอบ ๒ ระดับ มีความกว้างใหญ่ โดยรอบแสดงรากฐานอันมั่นคง อันเป็นที่ตั้งก่อให้เกิดบารมี ระเบียงที่กว้างใหญ่นี้ ช่วยเสริมองค์พระมหาสถูปเจดีย์ให้มีความงามยิ่งขึ้น ทั้งสามารถที่จะใช้ประโยชน์สำหรับพุทธศาสนิกชนจะกระทำทักษิณาวัฎบูชา หรือเดินชมทัศนียภาพเบื้องล่างไกลออกไปได้โดยรอบบริเวณดอยอินทนนท์ เรียกระเบียงนี้ว่า ลานประทักษิณ

บนระเบียงหรือลานประทักษิณ ทั้ง ๒ ชั้น จะมีซุ้มภาพปั้นนูนต่ำศิลปะเผาด่านเกวียนรอบระเบียงล่าง ๗ ซุ้มและรอบระเบียงบน ๖ ซุ้ม

ภาพนูนต่ำซุ้มระเบียงล่างด้านนอกทุกซุ้มประดับด้วยภาพตราเครื่องหมายกองทัพอากาศ คือ ปีกนก ๒ ปีก อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎครอบอุณาโลม แสดงเครื่องหมายของสถาบันผู้สร้างพระมหาสถูปเจดีย์แห่งนี้

ที่ระเบียงล่าง เมื่อเริ่มต้นเวียนขวาจะเห็นภาพนูนต่ำ แต่ละซุ้มในระเบียงชั้นนี้ ทางขวามือจะเป็นภาพทศชาติของพระโพธิสัตว์ ๖ ซุ้ม ๖ ชาติ เรียงตามลำดับดังนี้ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช พระมโหสถ และพระภูริทัตต ส่วนภาพในซุ้มทางซ้ายมือ ๗ ซุ้ม แต่ละซุ้มตรงข้ามภาพทศชาติในชั้นนี้จะเป็นภาพธรรมชาติของป่าหิมพานต์ ประกอบด้วย ฉัททันต์ ราชสีห์ คชสีห์ หงส์ วานร ปักษร นาคาปักษิณ และมฤคานร ซึ่งเป็นสัตว์ในภพภูมิต่ำ

ที่ระเบียงบน เมื่อเริ่มต้นเวียนขวาภาพนูนต่ำดินเผาทางขวา ซึ่งติดกับผนังองค์พระมหาสถูปเจดีย์ด้านนอก จะแสดงภาพชาดก ๔ พระชาติ คือ พระจันทกุมาร พระนารทะ พระวิธูรบัณฑิต และพระเวสสันดร สำหรับซุ้มตรงข้ามภาพทศชาติในระเบียงนี้หรือทางซ้ายมือเมื่อเดินเวียนขวา จะเป็นภาพธรรมชาติของป่าหิมพานต์และสัตว์ภูมิสูง ซึ่งประกอบด้วย กินรี ครุฑ นรสิงห์ นารีผล ฤาษี
และหิมวันตประเทศ อีก ๖ ซุ้ม

การใช้ภาพปั้นนูนต่ำดินเผาศิลปะด่านเกวียน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะแบบ และการนำเอาภาพป่าหิมพานต์ไว้เป็นองค์ประกอบนี้ ช่วยให้พระมหาสถูปเจดีย์มีลักษระรูปทรงสัณฐานและมีส่วนตกแต่งให้เข้ากับภูมิประเทศและสภาวะอากาศที่เป็นภูเขาสูงเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนภายในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ เป็นห้องโถงโล่งทรง ๘ เหลี่ยม เพดานสูง ตรงกลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร จำหลักด้วยหินแกรนิต หน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว สูง ๗.๓ ฟุต ตั้งอยู่บนชุกชีแบบเรียบบุหินแกรนิตสีดำมัน ผนังห้องโถงนี้ประดับด้วยภาพศิลาจำหลัก แบบนูนต่ำ ๔ ภาพใหญ่ แสดงพุทธประวัติ ๔ ตอนสำคัญ คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน

บนยอดปลีพระมหาสถูปเจดีย์ กั้นด้วยฉัตรโลหะ ๙ ชั้น ฉลุลาย สีเงิน มียอดเป็นสีทองอันหมายถึง อุดมมงคล อันสูงสุดและเป็นร่มเกล้าที่พระมหากษัตริยาธิราช รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเป็น “นวราชบพิตร” ถวายเป็นพุทธบูชา



การวางศิลาฤกษ์

เมื่อกองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ ฯ ขึ้นรับผิดชอบแล้ว และงานออกแบบประมาณราคาการก่อสร้างสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว ต่อมาจึงได้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมี พลอากาศโท นิมล บุญญานุรักษ์ เจ้ากรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ เป็นประธาน ได้คัดเลือก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชัยพิทักษ์ เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง งานส่วนที่ ๑ (ส่วนโครงสร้าง) ในวงเงิน ๑๗.๕ ล้านบาท กำหนดงานแล้วเสร็จ ภายใน ๒๘๕ วัน

ในปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๙ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศได้มีดำริว่าวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นั้นนับเป็นมหามงคลสมัย ควรจะได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ จึงได้สั่งการให้คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ฯ จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้นตามกำหนด เวลาฤกษ์ ๑๐.๔๙ น.

ก่อนที่จะประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ นั้น ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๙ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีก ๒ คน และนาวาอากาศเอก เกียรติศักดิ์ เทพกุญชร ผู้บังคับการกองบิน ๔๑ ในขณะนั้น ได้เดินทางไปขอพบ นายไชยา พูนศิริวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนให้ทราบถึงการที่กองทัพอากาศจะดำเนินการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสที่กองทัพอากาศ ครบ ๗๒ ปี แล้วจะได้น้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ ในปีเดียวกัน นายไชยา พูนศิริวงค์ ได้แสดงความยินดีและให้คำรับที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของกองทัพอากาศอย่างเต็มที่ และได้กรุณาให้คำแนะนำเรื่องที่เป็นประโยชน์อีกหลายข้อด้วย

ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ คุณหญิง วนิดา ธูปะเตมีย์ ภริยาผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่และภริยาตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เดินทางจากดอนเมือง เมื่อเวลา ๐๖.๐๐ น. ด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ ๑๐ (DC-๘) ไปยังสนามบิน กองบิน ๔๑ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคณะได้เดินทางไปถึงสนามบิน กองบิน ๔๑ แล้ว ได้เดินทางต่อไปยังดอยอินทนนท์ด้วยรถโดยสารขนาดเล็ก ส่วนท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และคุณหญิง พร้อมด้วย พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ประธานกรรมการอำนวยการก่อสร้างและคณะผู้ติดตามบางส่วนได้ไปประกอบพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของพญามังรายมหาราช อดีตเจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านนา และเจ้าผู้สร้างนครเชียงใหม่ ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า ต่อจากนั้นได้ไปถวายเครื่องนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่อนุสาวรีย์ห้วยแก้ว เพื่อบอกกล่าวขออนุญาต และขอพรในการก่อสร้างให้บังเกิดความสำเร็จเรียบร้อย และสวัสดี

ภูมิอากาศบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อุณหภูมิเย็นจัด ประมาณ ๓ ถึง ๔ องศา เซลเซียส เมฆลอยต่ำ (ละอองน้ำ) ผ่านผู้เข้าร่วมพิธีทั้งในเต็นท์และนอกเต็นท์ตลอดเวลา บางเวลาหนาตา แม้อยู่กันใกล้ ๆ ก็ไม่ค่อยเห็นกัน ลมค่อนข้างแรง พื้นดินบริเวณพิธีจึงเปียกแฉะ พระสงฆ์จำนวน ๑๐ รูป ที่นิมนต์ขึ้นมาเจริญพระพุทธมนต์จากวัดต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอใกล้เคียง ซึ่งเป็นเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือทั้งสิ้น ต้องจัดเครื่องทำไอร้อนตั้งถวายระหว่างเจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหาร

พิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ในครั้งนี้ เชื่อได้ว่านับเป็นครั้งแรกที่ได้อาราธนาพระสงฆ์ จำนวน ๑๐ รูป ขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารบนขุนเขาที่อยู่ที่สูงที่สุดในประเทศไทยท่ามกลางอากาศหนาวเย็น และภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา นับเป็นเหตุการณ์อันพิเศษ ซึ่งสร้างความปิติปลาบปลื้มในอานิสงส์แก่ผู้ไปเข้าร่วมพิธีโดยทั่วกันเป็นอันมาก


การดำเนินการก่อสร้าง

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชัยพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ได้เริ่มลำเลียงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นไปยังพื้นที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๙ และได้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการในส่วนงานโครงสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาและงวดงานต่าง ๆ ภายในเดือนเมษายน ๒๕๓๐ เพื่อให้งานส่วนที่ ๒ (ส่วนตกแต่ง) จะได้ดำเนินการได้เสร็จทันกองทัพอากาศสามารถน้อมเกล้าฯ ถวายพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ได้ ภายในเดือนกันยายน ๒๕๓๐

งานส่วนที่ ๑ (ส่วนโครงสร้าง) แบ่งงานออกเป็น ๗ งวดงาน ดังนี้

  • งวดงานที่หนึ่ง ปรับพื้นที่ ปักผัง ทำเข็มเจาะบริเวณองค์พระมหาสถูปเจดีย์ฯ กำหนดงานแล้วเสร็จใน ๓๐ วัน
  • งวดงานที่สอง ทำการเจาะเข็มบันไดและชานพัก ทำฐานรากเสารับพื้นระเบียง ทำพื้นระเบียง และขอบระเบียงกำหนดงานแล้วเสร็จ ภายใน ๓๐ วัน
  • งวดงานที่สาม ทำฐานรากพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ทำเสา ทำกำแพง กำหนดงานแล้วเสร็จ ภายใน ๓๐ วัน
  • งานงวดที่สี่ ทำฐานราก เสาริมพื้นระเบียง ทำพื้นระเบียง และขอบระเบียง กำหนดงานแล้วเสร็จ ภายใน ๓๐ วัน
  • งานงวดที่ห้า ทำกรอบซุ้ม บันไดขึ้นพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ทำคานและพื้นพระมหาสถูปเจดีย์ฯ กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน
  • งานงวดที่หก ทำคานและซุ้มทางเข้า ทำผัง ค.ส.ล.ทำคาน กำหนดงานแล้วเสร็จ ภายใน ๓๐ วัน
  • งวดงานที่เจ็ด ทำคานและผนังถึงยอดพระมหาสถูปเจดีย์ฯ ทำหลังคา ค.ส.ล.ภายในพระมหาสถูปเจดีย์ฯทำบันไดและชานพักส่วนที่อยู่นอกระเบียงทั้งหมด งานค.ส.ล.อื่น ๆ จนงานโครงสร้าง ค.ส.ล.กำหนดงานแล้วเสร็จ ภายใน ๓๐ วัน

ในระยะต้น ๆ ของการก่อสร้าง ผู้รับจ้างสามารถดำเนินงานไปได้ด้วยดีและค่อนข้างจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดงวดงานตามแผน ในเดือนมกราคม ๒๕๓๐ หลังจากได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แล้วได้ ๑ เดือน ปรากฏผลงานได้ถึง ๓๑% และในกลางเดือนมีนาคม ๒๕๓๐ สามารถทำงานเป็นผลงานได้ ๖๐% (๔ งวดงาน) ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๓๐ งานงวดที่ ๕ แล้วเสร็จ คิดเป็นผลงานได้ ๗๕% ส่วนอีก ๒๕% ที่เหลือของงานส่วนโครงสร้าง เป็นงานที่จะต้องดำเนินการในที่สูง คือ ส่วนปลายยอด ซึ่งมีความยาวมากขึ้น เพราะพื้นที่ในการทำงานมีจำกัด (อยู่บนนั่งร้านสูงมาก ๆ) และมีลมพัดแรงอยู่เสมอ ๆ

งานส่วนที่ ๑ ได้แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ งานงวดที่ ๗ นี้ ต้องเสียเวลาในการบ่มคอนกรีตและถอดไม้แบบ การระดมแรงงานให้มากขึ้นทำไม่ได้ เพราะเริ่มมีฝนมาบ้างแล้วในระยะนั้น

งานส่วนที่ ๒ ซึ่งเป็นงานส่วนตกแต่ง กองทัพอากาศ ได้ว่าจ้างผู้รับจ้างงานส่วนที่ ๑ ดำเนินการต่อไป ในวงเงิน ๒๔ ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จ ๑๒๐ วัน เป็นงานที่ต้องใช้ความประณีต ใช้ฝีมือของช่างฝีมือหลาย ๆ กลุ่ม แล้วแต่ลักษณะงานซึ่งมีอยู่หลายแบบ

ในปี ๒๕๓๐ ปรากฏว่า มีฝนมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แม้จะไม่มากก็เริ่มส่อเค้าว่าจะทำความล่าช้าเป็นอุปสรรคในการตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ฯ เพราะส่วนใหญ่ของผิวองค์พระมหาสถูปเจดีย์ฯ ซุ้มระเบียงต่าง ๆ จะต้องประดับด้วยกระเบื้องโมเสกแก้ว (Glass Mosaic) ถึง ๒,๘๑๕ ตารางเมตร การประดับกระเบื้องดังกล่าวต้องใช้กาวชนิดพิเศษที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศที่ชื้นเย็นตลอดเวลา กระเบื้องโมเสกแก้วสีต่าง ๆ เป็นผลิตภัณฑ์อย่างดีจากประเทศอิตาลี ส่วนกาวผงเป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศอังกฤษ

การดำเนินงานในส่วนที่ ๑ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนทราบว่า สถานที่ตั้งพระมหาสถูปเจดีย์ฯ เป็นยอดเขาที่มีลมพัดผ่านที่ราบระหว่างช่องเขาเข้าเป็นแนวมา ๒ ทาง มาบรรจบกัน ณ จุดนั้น ทำให้เกิดจุดรวมของเมฆเหนือบริเวณอยู่เป็นประจำ นับเป็นชัยภูมิที่มาเลือกที่ตั้งได้อย่างเหมาะสม ที่สร้างอุปสรรคในการก่อสร้าง ช่วงฤดูฝนเป็นอันมาก งานส่วนที่ ๒ จึงประสบอุปสรรคมากขึ้นเป็นลำดับ ในทางสูง ลมแรง อากาศเย็นจัด คนงานทนความหนาวเย็นไม่ได้ นั่งร้าน-เย็นจัด สั่นเพราะลม บางช่วงมีฝนตกติดต่อกันทุกวัน จะมีช่วงฟ้าเปิดตอนเช้าบางวันเพียง ๒ ถึง ๓ ชั่วโมง ช่างประดับกระเบื้องโมเสกองค์พระมหาสถูปเจดีย์ฯ ปีนนั่งร้านไปปฏิบัติงานไม่ได้

งานบางวัน เกือบไม่ได้งาน เพราะเปียกแฉะ กาวไม่สามารถติดกระเบื้องโมเสกได้ จนล่วงเลยมาเป็นที่น่าวิตกว่า จะไม่แล้วเสร็จทันตามกำหนดที่ต้องการจะน้อมเกล้าฯ ถวายในเดือนกันยายน ๒๕๓๐

คณะกรรมการอำนวยการก่อสร้าง ได้พยายามแก้ไข หาวิธีการที่ให้สามารถตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ฯ โดยในปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ ได้หาเครื่องกำบัง หรือทำครอบองค์พระมหาสถูปเจดีย์ กำบังซุ้มระเบียงต่าง ๆ เพื่อกั้นฝน กั้นลมให้ช่างสามารถปฏิบัติงานภายในได้ แต่ความชื้นของอากาศเป็นอุปสรรคในการประดับกระเบื้อง ก็ได้ใช้เตาพ่นไฟช่วยเป่าผิวให้แห้งเป็นตอน ๆ ไป ช่างทุกคนอธิษฐานภาวนาให้ท้องฟ้าเปิดอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้ล่าช้ามากยิ่งขึ้น นอกจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีการปรับแก้การปฏิบัติงาน ใช้เทคนิคต่าง ๆ มาช่วยแล้ว คณะกรรมการฯ ยังได้ให้เกจิอาจารย์ตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ และหาวิธีแก้ไข ซึ่งมีที่ต้องใช้เครื่องเซ่นสังเวยและธูปสำหรับการก่อสร้างนี้อีกหลายต่อหลายครั้ง การก่อสร้างจึงสำเร็จเรียบร้อยลงได้ด้วยดี

การก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ฯ กองทัพอากาศได้แต่งตั้งให้ผู้มีรายชื่อต่อไปนี้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง

  • พลอากาศโท เกริกชัย หาญสงคราม
  • พลอากาศตรี มนตรี โปราณานนท์ (ปัจจุบัน พลอากาศโท )
  • นาวาอากาศเอก พิมล ไพบูลย์
  • นาวาอากาศ มานะวิทย์ หงสกุล
  • นางไขศรี ตันศิริ
  • นายสันติ ชยสมบัติ
  • นายกัญจน์จักก์ สถาปนสุต

และมี นาวาอากาศเอก อนุธวัช บุณยสิงห์ เรืออากาศโท อภิรัฐ อุทัยวรรณ พันจ่าอากาศเอก นภา ชูจินดา เป็นคณะเจ้าหน้าที่ควบคุมงาน นาวาอากาศเอก ประกลป์ วิจิตรานุช สังกัด กรมขนส่งทหารอากาศเป็นผู้ดูแลการสนับสนุนด้านการขนส่งและธุรการด้วย


การตกแต่งพระมหาสถูปเจดีย์

การตกแต่งพระมหาสถูปเจดีย์ กองทัพอากาศได้คำนึงถึงความสวยงามเพื่อสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ ประชาชนเมื่อแรกเห็นปูชนียสถานอันสำคัญที่ประดิษฐานบนที่สูงที่สุดในประเทศไทยเป็นเบื้องต้น คำนึงถึงความสอดคล้องผสมกลมกลืนกับลักษณะภูมิประเทศ และคำนึงถึงความคงทนถาวรในการบูรณะดูแลในสภาวะแวดล้อมและลักษณะอากาศที่มีทั้งความเปียกชื้น ความหนาวเย็นและบางฤดูกาลอากาศแห้ง

องค์ประกอบสำคัญในการตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ มีที่ควรนำมากล่าวไว้เป็นหลักฐาน มีดังนี้

ส่วนยอดสุดประดิษฐานฉัตร ๙ ชั้น ทำด้วยเหล็ก ไร้สนิมสีเงินฉลุลาย ปลายยอดฉัตรเป็นสีทองปัดผิว ฉัตรนี้ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตรจารย์ ภิญโญ สุวรรณคีรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผิวองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกแก้วสีต่าง ๆ โมเสกแก้วสีทองจำนวน ๒๑๐ ตารางเมตร ประดับส่วนยอดปลี โมเสกแก้วสีน้ำตาลทอง ๑,๑๐๐ ตารางเมตร ประดับผิวส่วนองค์รูประฆังคว่ำ และขอบซุ้มจำนวน ๑๓ ซุ้ม ขอบลานประทักษิณชั้นบนพร้อมด้วยซุ้ม บุโมเสกแก้วสีเทาอ่อน ๓๘๐ ตารางเมตร ขอบลานประทักษิณชั้นล่าง บุโมสกแก้วสีเทาเข้ม ๖๐๐ ตารางเมตร ขอบลานประทักษิณทั้งชั้นบนและชั้นล่าง เมื่อมองทางแนวระดับจะเห็นมีรูปลักษณะและลายเป็นปีกนก ฝ้าเพดานภายในห้องโถงกลางพระมหาสถูปเจดีย์ บุโมเสกแก้วสีงาและสีนาก ๒๒๐ ตารางเมตร กระเบื้องโมเสกแก้วทั้งหมดสั่งซื้อจากประเทศอิตาลี มีคุณสมบัติพิเศษ ตะไคร่น้ำจับไม่ติด จะทำให้ไม่มีปัญหาในการดูแลรักษาความสะอาดในสภาวะแวดล้อมที่มีฝนตกชุก มีความเปียกชื้น แดดน้อยตลอดเวลาได้ดี

ผนังภายนอกตัวองค์พระมหาสถูปเจดีย์อันเป็นฐานรองรับส่วนที่หมายรู้ว่าบารมี ๓๐ ทัศ บุด้วยหินแกรนิตสีดำ ๓๔๐ ตารางเมตร ผนังภายในพระมหาสถูปเจดีย์ส่วนล่างบุหินอ่อน ๑๗๐ ตารางเมตร และส่วนบน บุด้วยหินเฟลมเมต ๒๕๐ ตารางเมตร

พื้นลานประทักษิณทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ปูหินอ่อนสลับหินแกรนิต ๑,๘๗๐ ตารางเมตร ส่วนพื้นภายในห้องโถง ปูด้วยหินแกรนิต ๒๓๐ ตารางเมตร

บันไดขึ้นองค์พระมหาสถูปเจดีย์ จำนวน ๑๓๐ ขั้น และราวบันได ปูด้วยหินแกรนิตหยาบทั้งหมด

ดวงโคมไฟบนราวบันไดแกะด้วยหินหยาบเป็นรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๕ เซนติเมตร

การตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ นอกจากจะใช้วัสดุตกแต่งพื้นผิวอย่างดีมาประดับตกแต่งให้สวยงามแล้วยังได้ตกแต่งด้วยวัสดุที่มีรูปทรงอันสวยงามมาประกอบด้วย คือ ภายในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินแกรนิตสลัก “ปางประทานพร” ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว สูง ๗.๓ ฟุต พระพุทธรูปนี้สั่งจำหลักจากประเทศอินโดนีเซีย ที่ผนังด้านในห้องโถง ๔ ด้าน ประดับด้วยภาพหินแกรนิตสลักแบบนูนต่ำขนาด ๒.๔ × ๕.๐ เมตร เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ๔ ตอนสำคัญ คือ ตอนประสูติ ตอนตรัสรู้ ตอนปฐมเทศนา และตอนปรินิพพาน ภาพหินแกรนิตทั้งสี่ภาพ สลักจากอ่างศิลา ชลบุรี และที่ซุ้มต่าง ๆ รอบลานประทักษิณชั้นบน จำนวน ๖ ซุ้ม และชั้นล่าง จำนวน ๗ ซุ้ม ทั้ง ๒ ด้านของแต่ละซุ้มประดับด้วยภาพนูนต่ำศิลปะดินเผาด่านเกวียนทั้งหมดเป็นภาพชาดกทศชาติ ป่าหิมพานต์ และตราเครื่องหมายกองทัพอากาศ พร้อมทั้งที่ผนังด้านนอกตัวองค์พระมหาสถูปเจดีย์อีก ๔ ด้าน ก็ได้ประดับภาพชาดกทศชาติอีก ๔ ชาติ ด้วยกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนด้วย

การประดับตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ที่กล่าวมาแต่ละรายการนั้น ล้วนแล้วแต่ได้พยายามสรรหาวัสดุตกแต่งอย่างดีมีคุณค่า ทั้งทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ช่างที่ใช้ฝีมือประดับตกแต่งได้พยายามหาช่างฝีมือที่มีความสามารถ และฝีมือดีมาทำงานทั้งสิ้น เพราะหวังที่จะเห็นปูชนียสถานสำคัญแห่งนี้ สถิตฝากไว้ในพิภพชั่วกาล นิรันดร

นอกจากส่วนประดับตกแต่งที่องค์พระมหาสถูปเจดีย์แล้ว ยังได้จัดตกแต่งสภาพภูมิสถาปัตย์บนพื้นดินโดยรอบฐานที่ตั้งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ และที่สวนหย่อมด้านตะวันตกเฉียงใต้ ได้จัดสวนไว้ให้สวยงามรับกับองค์พระมหาสถูปเจดีย์ด้วย

งานสำคัญที่เป็นส่วนองค์ประกอบในการประดับตกแต่งที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปหินแกรนิต ต้นแบบขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ปั้นแบบขึ้นโดย นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธ์ ตามแนวคิดของ พลอากาศโท วรนาถ อภิจารี และ คุณไขศรี ตันศิริ ภาพปั้นนูนต่ำดินเผาด่านเกวียน ออกแบบและควบคุมการผลิตโดย นายวิโรฒ ศรีสุโร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา และภาพพุทธประวัติหินแกรนิตทั้ง ๔ ตอน ออกแบบโดย นายวิโรฒ ศรีสุโร และแกะสลักโดย นายศักดิ์ชัย ศิลาแสงรุ้ง แห่งบ้านอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี


ชื่อพระมหาสถูปเจดีย์พระราชทาน

เมื่อเริ่มทำการก่อสร้างในปลายปี ๒๕๒๙ นั้น กองทัพอากาศได้ดำริว่า พระมหาสถูปเจดีย์นี้จะเป็นปูชนียสถานสำคัญที่สร้างขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย แสดงความปิติชื่นชมโสมนัส และจงรักภักดีแด่องค์จอมทัพไทย ซึ่งจะเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา กองทัพอากาศ เห็นสมควรที่จะให้พระมหาสถูปเจดีย์นี้ได้รับพระราชทานชื่อจึงได้ขอรับพระราชทานชื่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐

การขอรับพระราชทานชื่อดังกล่าวทำให้มีการคิดผูกถ้อยคำเป็นชื่อพระมหาสถูปเจดีย์ให้มีความหมาย มีความไพเราะได้ครบถ้วน ความหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหลายประการ ในชั้นต้น สำนักราชเลขาธิการ ได้นำชื่อจำนวน ๑๘ ชื่อ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาประกอบพระราชดำริ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ แล้วมีพระราชกระแสว่า “หากคิดผูกคำที่มีความหมายแสดงความใหญ่โตมโหฬาร เพียงดังแผ่นดินจดแผ่นฟ้ามาเป็นชื่อพระสถูปก็จะเหมาะ”

สมเด็จพระญาณสังวร จึงได้คิดชื่อองค์พระสถูปเจดีย์ ถวายเพื่อประกอบพระราชดำริตามพระราชกระแสอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อต้นเดือน มกราคม ๒๕๓๑ กองทัพอากาศ ได้รับหนังสือของท่านราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๑ แจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วว่า "พระมหาธาตุนภเมทนีดล" มีความหมายว่า พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน



นอกจากกองทัพอากาศ จะขอพระราชทานชื่อพระมหาสถูปเจดีย์แล้ว กองทัพอากาศยังได้ขอพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานที่หน้าบันซุ้มทางเข้าภายในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ฯ ทั้งสี่ทิศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและพระบรมเดชานุภาพให้แผ่ไพศาลยิ่งยืนนานและเป็นที่ปิติชื่นชมโสมนัสแก่พสกนิกรทั้งหลายจะได้อนุโมทนาสาธุการ ในเรื่องนี้ ท่านราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว แจ้งให้กองทัพอากาศทราบเมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๓๐ ว่า พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กองทัพอากาศขอพระมหากรุณา

พระมหาธาตุนภเมทนีดล อันเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่กองทัพอากาศร่วมใจสามัคคีสร้างขึ้นในวาระครบ ๗๒ ปี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย มหามงคลวโรกาสองค์จอมทัพไทยพระธรรมิกมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ จึงอุบัติขึ้น ณ บริเวณดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ อันสูงสุดในประเทศไทย



พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุภายในส่วนยอดพระมหาสถูปเจดีย์ หรือยอดปลี ซึ่งประดับด้วยกระเบื้องโมเสกแก้วสีทอง ซึ่งมีความหมายในส่วนองค์พระมหาสถูปเจดีย์ "ส่วนนิพพาน" นั้น กองทัพอากาศได้คำนึงถึงพระบรมสารีริกธาตุที่จะอัญเชิญมาบรรจุในส่วนสำคัญนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้พิจารณาถึงประเทศที่ได้เก็บรักษามาแต่อดีตกาลเป็นสำคัญว่าจะมีทางใดที่จะขอแบ่งมอบมาประดิษฐานไว้ได้บ้าง จึงได้กำหนดเป็นหลักการไว้แต่เบื้องต้นว่า

จะขอรับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ส่วนหนึ่ง

หาหนทางขอแบ่งมอบจากประเทศอินเดีย และศรีลังกา ส่วนหนึ่ง

เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙ กองทัพอากาศได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ติดต่อเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี และเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ขอให้ติดต่อรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ ดำเนินการติดต่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้กองทัพอากาศอัญเชิญไปบรรจุประดิษฐานในพระมหาสถูปเจดีย์ที่กำลังจะก่อสร้าง ณ ดอยอินทนนท์

ต่อมา ในปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๙ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบให้กองทัพอากาศทราบว่า เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ได้แจ้งมาแล้วว่าทางรัฐบาลอินเดียคงจะไม่สามารถจะแบ่งให้ได้ เพราะรัฐบาลอินเดียมีนโยบายที่จะเก็บรักษาไว้เฉพาะแต่ประเทศอินเดีย และได้เคยตอบปฏิเสธประเทศพุทธะศาสนิกอื่น ๆ มาก่อนแล้ว สำหรับประเทศศรีลังกานั้น นายอาณัติ สุวรรณวิหค เอกอัครราชทูต ได้ติดต่อและพระสังฆมหานายกะ แห่งวัดมัลวัตตะ สยามนิกาย เมืองแคนดี ยินดีมอบพระบรมมาสารีริกธาตุที่ได้เก็บรักษาไว้มอบให้

ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๓๐ หลังจากที่ได้ลงมือก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ไปได้แล้ว ๖๕% กองทัพอากาศได้มีความคิดเพิ่มเติมว่า ควรจะได้ขอรับมอบพระบรมธาตุจากสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้ทรงคุณวิเศษ ดำรงอยู่ในบริสุทธิศีลอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่ง เพื่อนำขึ้นบรรจุประดิษฐานไว้ในพระมหาสถูปเจดีย์ด้วย สมเด็จพระญาณสังวรได้มีมุทิตาจิตอนุโมทนามอบให้


พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระราชทาน

เมื่อกองทัพอากาศ ได้ขอรับพระราชทานพระบรมมาสารีริกธาตุ เพื่อจะได้อัญเชิญไปประดิษฐานในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ณ ดอยอินทนนท์แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์
ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทาน เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๐ เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น กองทัพอากาศ ได้อัญเชิญพระกรัณฑ์ทองคำองค์พิเศษขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกันนั้นได้อัญเชิญพระกรัณฑ์ทองคำที่ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้แล้วจากประเทศศรีลังกา จากสมเด็จพระญาณสังวร จากผู้บัญชาการทหารอากาศ และจากข้าราชการ ลูกจ้าง ของกองทัพอากาศ อีก ๔ ใบ ขึ้นทูลเกล้าฯ ขอรับพระมหากรุณาธิคุณทรงบรรจุในเจดีย์หินอ่อน ที่กองทัพอากาศจะได้นำเข้ารับพระราชทานบรรจุด้วย

คำกราบบังคมทูลถวายรายงานของ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในวันนั้น มีดังนี้

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วย พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ พลอากาศโท วีระ กิจจาทร ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายการข่าว ในฐานะประธานอนุกรรมการหารายได้ พลอากาศโท พิศิศฐ์ ศรีกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายกำลังพล ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ พลอากาศโท เกริกชัย หาญสงคราม เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ในฐานะประธานอนุกรรมการควบคุมการก่อสร้างและตกแต่งพระมหาสถูปเจดีย์ พลอากาศตรี ประชา มุ่งธัญญา เจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ ในฐานะกรรมการและอนุกรรมการ พลอากาศเอก หญิง เยาวภา ณ ลำพูน รองผู้อำนวยการกองเสมียนตรา กรมสารบรรณทหารอากาศ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ ต่างมีความปิติยินดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานบรรจุพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้ารับพระราชทานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ลงในพระกรัณฑ์ เพื่ออัญเชิญไปบรรจุประดิษฐานในพระมหาสถูปเจดีย์ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่กองทัพอากาศสร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา ในวโรกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบความเป็นมาโดยสังเขป ดังนี้

ในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับมอบพระสารีริกธาตุมาส่วนหนึ่ง และได้รำลึกถึงการที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบรรจุไว้ ประจวบกับในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นปีที่มีเหตุการณ์ที่นับเป็นมหามงคลอย่างยิ่งสำคัญ ๒ เหตุการณ์ เกิดขึ้นในปีเดียวกัน คือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และกองทัพอากาศจะมีอายุครบ ๗๒ ปี
ข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ จึงเห็นชอบพร้อมกันที่จะจัดให้มีการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุ ขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเสริมบุญญาธิการในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อเป็นนิมิตสำแดงความจงรักภักดีของข้าราชการและครอบครัวในกองทัพอากาศ ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และเพื่อเป็นนิมิตของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในกองทัพอากาศในวาระอันสำคัญด้วย

กองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ขึ้นดำเนินการในเรื่องนี้นับตั้งแต่การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในด้านภูมิสถาปัตย์ และการทำลายสิ่งแวดล้อม ดำเนินการในการขออนุญาตกรมป่าไม้ และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการในการออกแบบองค์พระมหาสถูปเจดีย์ และการตกแต่งรายละเอียด การหารายได้ การประชาสัมพันธ์เฉพาะภายในกองทัพอากาศ และการขอให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อนุมัติให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐

การดำเนินการต่าง ๆ ได้ดำเนินมาด้วยดี ในปัจจุบันการก่อสร้างยังเหลืองานตกแต่งองค์พระมหาสถูปอีกเพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้น และจะแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๐ สำหรับพระพุทธรูปศิลาซึ่งจำหลักจากประเทศอินโดนีเซีย ได้ชะลอขึ้นประดิษฐานภายในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๐

งบประมาณในการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์องค์นี้ คาดว่าประมาณ ๔๕ ล้านบาทเศษ เป็นเงินที่ได้รับจากการบริจาคแล้วขณะนี้ ๒๓ ล้านบาท และจะใช้เงินงบประมาณตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๒๐ ล้านบาท

พระบรมสารีริกธาตุที่จะอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในยอดปลีองค์พระมหาสถูปเจดีย์นี้ จะเป็นส่วนที่จะได้รับพระราชทานในวันนี้เป็นสำคัญ นอกจากนั้นจะเป็นส่วนที่สังฆะมหานายกะ สิริมัลวัตตะ อนันดา สยามมหานิกาย เมืองแคนดี มอบให้ ส่วนที่สมเด็จพระญาณสังวรอนุโมทนาให้ส่วนของข้าราชการกองทัพอากาศและส่วนของข้าพระพุทธเจ้าและคุณหญิง วนิดา ธูปะเตมีย์ รวมเป็น ๕ ส่วน และเมื่อกองทัพอากาศได้รับพระราชทานบรรจุเรียบร้อยแล้ว จะได้อัญเชิญขึ้นไปสมโภช ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ กันยายน ๒๕๓๐ หลังจากนั้นจะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปประดิษฐานในยอดองค์พระมหาสถูปเจดีย์ต่อไป

ในการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนี้ กองทัพอากาศได้สร้างพระพุทธรูปโลหะจำลองจากพระพุทธรูปศิลาขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ขึ้น ๙๙๙ องค์ โดยจะประดิษฐานในยอดปลีระดับเดียวกับพระบรมสารีริกธาตุ ๙๙ องค์ และบรรจุประดิษฐานในระดับต่ำลงมาเหนือเพดานห้องโถงองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ๙๐๐ องค์ พระพุทธรูปศิลาและพระพุทธรูปโลหะ ๙๙๙ องค์ กำหนดจะกระทำพิธี
พุทธาภิเษกในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์ ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๐ นี้

กองทัพอากาศ มีความสำนึกในพระบรมเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ และพระมหากรุณาธิคุณอันไพศาลที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีต่อพสกนิกรและกองทัพอากาศเป็นล้นพ้นสุดประมาณมิได้ การได้มีโอกาสสร้างปูชนียวัตถุอันสำคัญสูงสุดขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในครั้งนี้ นับเป็นบุญก็เนื่องด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมโดยแท้ ไม่มีสิ่งใดจะฉลองพระมหากรุณาธิคุณได้ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ข้าพระพุทธเจ้าในนามของชาวกองทัพอากาศ ขอกราบถวายบังคมแทบเบื้องยุคลบาท ขอรับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และขอรับพระราชทานบรรจุในพระเจดีย์หินอ่อนทีได้อัญเชิญมานี้ เพื่อจักได้อัญเชิญไปสมโภชและประดิษฐานในพระมหาสถูปเจดีย์ต่อไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

พระกรัณฑ์พิเศษที่กองทัพอากาศจัดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่จะพระราชทานที่พระกรัณฑ์ทองคำสลักพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระกรัณฑ์พิเศษที่จัดถวายนี้ จัดเป็น ๕ ชั้น บรรจุซ้อนภายในตามลำดับจากองค์ในสุดออกมา คือ

  • ทำด้วยไม้จันทน์
  • ทำด้วยงาช้าง
  • ทำด้วยทองคำ
  • ทำด้วยนาก
  • ทำด้วยเงิน

เมื่อทรงบรรจุถึงพระกรัณฑ์ที่ทำด้วยเงินแล้วทรงห่อด้วยผ้าแพรเยื่อไม้ แล้วทรงหย่อยลงในเจดีย์หินอ่อนทรงปิดฝา(ยอดเจดีย์) แล้ว เป็นเสร็จพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมเป็นพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในพระกรัณฑ์ ผ้าและเจดีย์หินอ่อน รวม ๗ ชั้น ต่อจากนั้นได้พระราชทานเจดีย์หินอ่อนนั้นไห้ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุในวันนั้น ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะ สรุปเป็นใจความดังจะขออัญเชิญมา ณ ที่นี้ว่า

“ชื่อพระมหาสถูปกำลังทรงเลือกอยู่ ทรงอยากจะให้กะทัดรัด มีความหมายทั้งฟ้าทั้งดิน อีก ๒ ถึง ๓ วัน คงจะได้ เรื่องการทำพิธีน้อมเกล้าฯ ถวาย ในเดือนกันยายน ๒๕๓๐ คงจะทำไม่ได้ เพราะจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปภาคใต้ การเสด็จพระราชดำเนินกลับไปกลับมาทรงไม่สะดวก พลอากาศเอก ประพันธ์ฯ จะเกษียณอายุใช่หรือไม่ ทำพิธีตอนหลังก็ไม่เป็นไร ใครจะมาเป็นแม่ทัพอากาศคนต่อไป เวลาจะมีงาน คงจะต้องเชิญพลอากาศเอก ประพันธ์ฯ ให้มาในฐานะเป็นกำลังสำคัญ และคนริเริ่ม คณะกรรมการก็จะต้องเชิญ การสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ เป็นขวัญกำลังใจไม่เฉพาะกองทัพอากาศ แต่จะเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ คณะกรรมการฯ ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างทุกคนก็จะได้บุญ”

จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้แก่กองทัพอากาศ และอาณาประชาราษฎรทั้งหลาย

พระบรมสารีริกธาตุส่วนจากประเทศศรีลังกา เมื่อกองทัพอากาศ ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่า นายอาณัติ สุวรรณวิหค เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ (ปัจจุบัน อธิบดีกรมพิธีการทูต) ได้รายงานว่า พระสังฆมหานายกะ สิริมัลวัตตะ อนันดา สยามนิกาย วัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี ยินดีมอบพระบรมสารีริกธาตุให้ และยังได้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว ท่านสังฆมหานายกะ ได้มาจากวัดโบราณเก่าแก่มาก ในเมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ในภาคเหนือ อยู่ห่างกรุงโคลัมโบ ๒๐๖ กิโลเมตร (เมืองแคนดีอยู่ห่างกรุงโคลัมโบ ๑๑๖ กิโลเมตร) เมืองอนุราธปุระ เคยมีประวัติและมือดีตอันรุ่งเรือง พระถังซำจั๋งเคยไปเยือนเมืองนี้มาแล้ว ที่อนุราธปุระนี้ มีต้นศรีมหาโพธิ์เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุถึง ๒,๐๐๐ ปีเศษ

พระสังฆมหานายกะฯ ได้เก็บรักษา บูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นส่วนตัว ณ วัดมัลวัตตะ มาช้านาน กองทัพอากาศจึงได้กำหนดที่จะเดินทางไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้

วันศุกร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๐ คณะผู้แทนกองทัพอากาศ ออกเดินทางจากดอนเมือง ไปยังกรุงโคลัมโบ

วันเสาร์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๐ ออกเดินทางจากกรุงโคลัมโบ ไปยังวัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี รับพระบรมสารีริกธาตุกลับมายังกรุงโคลัมโบ

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๐ คณะผู้แทนกองทัพอากาศ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กลับจากกรุงโคลัมโบถึงกองทัพอากาศ

คณะผู้แทนกองทัพอากาศ ประกอบด้วย

  • พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • คุณหญิง วนิดา ธูปะเตมีย์ ภริยาผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • พลอากาศตรี ประชา มุ่งธัญญา เจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ
  • เรืออากาศโท หญิง พันธ์นิดา ธูปะเตมีย์ สังกัดกรมข่าวทหารอากาศ

พร้อมกันนี้ สมเด็จพระญาณสังวร ได้ให้พระพุทธิวงศมุนี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และพระมหาทองสูรย์ รองทอง เป็นผู้แทนฝ่ายสงฆ์ร่วมในคณะเดินทางด้วย การเดินทางไปรับและอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ในครั้งนี้มีภาพตีพิมพ์ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้แล้ว

พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับจากประเทศศรีลังกานี้ เมื่อได้รับและอัญเชิญมาถึงกองทัพอากาศแล้ว กองทัพอากาศได้บรรจุลงในกรัณฑ์ทองคำใบหนึ่งต่างหาก สลักชื่อพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่รับจากศรีลังกาไว้ที่กรัณฑ์ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ขอพระราชทานบรรจุในพระกรัณฑ์ใหญ่ที่ทำด้วยนากและเงิน ตามลำดับ

พระบรมธาตุส่วนของสมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เมตตาอนุโมทนามอบพระบรมธาตุให้กองทัพอากาศ ได้เมตตาอนุโมทนามอบพระบรมธาตุให้กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๐ เพื่อนำเข้าบรรจุประดิษฐานบนยอดปลีพระมหาสถูปเจดีย์ ซึ่งกองทัพอากาศได้จัดเป็นกรัณฑ์ทองคำใบหนึ่งต่างหาก ให้สมเด็จพระญาณสังวรบรรจุ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ขอพระราชทานบรรจุในพระกรัณฑ์ใหญ่ที่ทำด้วยนากและเงิน ตามลำดับ

การสมโภชและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

อัญเชิญพระบรมสารีกธาตุ ออกจากกองบัญชาการกองทัพอากาศ
ขึ้นเครื่องบินไปยังจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อกองทัพอากาศ ได้จัดคณะผู้แทนเดินทางไปรับ และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกาแล้ว ได้อาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร บรรจุพระบรมธาตุในส่วนของสมเด็จฯ พระคุณเจ้าลงในกรัณฑ์ทองคำ และได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานในส่วนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและทรงบรรจุลงไปเจดีย์หินอ่อนพระราชทานเรียบร้อยแล้ว กองทัพอากาศได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจากกองบัญชาการกองทัพอากาศไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. การอัญเชิญพระบารมีสารีริกธาตุขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่ กองทัพอากาศมีความประสงค์จะให้ประชาชนชาวเมืองเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงได้มาสักการะบูชา พร้อมทั้งร่วมกับกองทัพอากาศทำการสมโภช เพื่อให้บังเกิดสวัสดิมงคลแก่ชาวเมืองเชียงใหม่ และประชาชนในเขตภาคเหนือ

การสมโภชได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๐ รวม ๓ วัน ๓ คืน ณ สนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๐ เวลา ๑๕.๐๐ น. เมื่อเครื่องบินกองทัพอากาศ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ลงจอดสนามบินจังหวัดเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (ร.ต.เพชร คุ้มสอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ขึ้นมาบนเครื่องบิน มานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปขึ้นรถยนต์ ขบวนรถยนต์ได้ออกจากสนามบินเชียงใหม่ และไปตั้งขบวนที่หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

เมื่อขบวนรถยนต์ถึงหน้าพระอนุสาวรีย์สามกษัตริย์แล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนำขึ้นไปประดิษฐานบนรถบุษบก ซึ่งอยู่ในขบวนแห่ที่จัดรูปขบวน พร้อมที่จะออกเดินผ่านถนนต่าง ๆ ไปยังสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้จุดเครื่องทองน้อยหน้าพระอนุสาวรีย์ อัญเชิญบุรพกษัตริย์ทั้งสามพระองค์สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุแล้ว เมื่อได้เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. ได้เริ่มเคลื่อนขบวนแห่ไปยังสนามกีฬา ขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนธงทิว วงดุริยางค์นักเรียนชาย วงดุริยางค์นักเรียนหญิง ขบวนนักเรียน ขบวนพุทธสมาคม และขบวนยุวพุทธิกะสมาคม ขบวนทหารอากาศแต่งกายชุดปกติขาว ชุดลากจูงรถบุษบก ซึ่งมีทั้งทหารอากาศ ทส.ปช. ลูกเสือชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ช่วยกันลากจูง ขบวนแห่ผ่านไปตามถนน และเมื่อถึงสนามกีฬาแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐาน ณ พิธีมณฑล ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ต่อจากนั้นดำเนินพิธีกรรมทางศาสนา พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระบรมสารีริกธาตุ

กองทัพอากาศและจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนสักการะ ๓ วัน ๓ คืน เวลากลางคืนมีมหรสพสมโภช คือ จัดวงดนตรีกองทัพอากาศ และมีการแสดงประกอบบนเวที จัดภาพยนตร์จอยักษ์แอ๊ดเทวดา ปรากฏว่ามีประชาชนมาสักการะบูชามากมาย ที่น่าอัศจรรย์แก่คณะกรรมการและผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่หลายท่านก็คือ ในช่วงการจัดงานสมโภชนั้น ก่อนหน้าจะมีฝนตกตอนค่ำทุกวัน แต่ระหว่าง ๓ วัน ที่สมโภชพระบรมสารีริกธาตุ ไม่มีฝนตกเลยมีตกปรอยเม็ดสองเม็ด เหมือนพระประพรมน้ำพระพุทธมนต์นิดหน่อยในบางคืน แต่ในคืนสุดท้ายวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๐ พอได้เวลาสองยามแล้ว ฝนตกลงมาในเมืองเชียงใหม่มากติดต่อกัน มีลมพัดแรง ราวกับเทพยดาเทน้ำลงมาปานนั้น น้ำจึงท่วมท้นในสนามกีฬาตลอดจนตามถนนในเมืองเชียงใหม่ บางท่านกล่าวว่าไม่เคยมีเช่นนี้ในเมืองเชียงใหม่มาก่อน ที่ฝนตกลงมาเหมือนกับชะล้างเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด เพราะในตอนสายวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๐ น้ำฝนที่ตกลงมาก็ระบายหายไปหมด

ขอให้นิมิตที่บังเกิดขึ้นนั้นเป็นนิมิตของความเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุขของชาวเมืองเชียงใหม่และประชาชนในเขตล้านนา

ในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. เป็นกำหนดวันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีพระมหาสถูปเจดีย์ คณะเจ้าหน้าที่ได้ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ก่อนเวลาย่ำรุ่งแล้วไปจัดรูปขบวนรถยนต์ให้
พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ คุณหญิง วนิดา ธูปะเตมีย์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อัญเชิญออกจากเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง

เมื่อเวลาก่อน ๐๗.๐๐ น. เล็กน้อย ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ถึงพระมหาสถูปเจดีย์ ต่างช่วยกันยกคานหามที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขึ้นตามบันไดพระมหาสถูปเจดีย์ ๑๒๖ ขั้น เข้าในห้องโถงองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานรอเวลาที่จะอัญเชิญขึ้นบนยอดปลี

ในคืนวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๐ ฝนมิได้ตกเฉพาะในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้ตกทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง น้ำท่วมและไหลบ่าจากดอยลงสู่บริเวณพื้นราบที่เห็นได้ชัดเจน ตลอดทางถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง น้ำท่วมถนน ต้นไม้หักขวางทาง แต่ทุกอย่างที่ปรากฏ มิได้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นดอยอินทนนท์ มีฟ้าผ่าตอนฝนตกกลางคืน หม้อแปลงไฟฟ้าตอนล่างช่วงถนนจอมทอง-อินทนนท์ หม้อแปลงดังกล่าวจ่ายกระแสไฟฟ้าให้งานก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ซึ่งใช้กับปั้นจั่นยักษ์ (Tower Crane) และปั้นจั่นนี้ตามแผนงานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะใช้เป็นพาหนะในการส่งพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อไฟฟ้ามีเหตุขัดข้อง เจ้าหน้าที่ได้พยายามหาทางที่จะให้ใช้ปั้นจั่นให้สำเร็จได้ตามกำหนดเวลา และพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ประสงค์จะขึ้นไปส่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยปั้นจั่นกว้านขึ้นไปด้วย แต่เมื่อกระแสไฟฟ้าไม่พอ จึงยกเลิกการกว้านขึ้นโดยปั้นจั่น และใช้วิธีส่งสาแหรกอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ส่งต่อมือต่อมือไปตามเจ้าหน้าที่และทหารที่เรียงรายขึ้นไปตามนั่งร้านรอบองค์พระมหาสถูปเจดีย์

เมื่อได้เวลา ๐๗.๑๙ น. ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากห้องโถงขึ้นบรรจุ โดยเริ่มส่งให้ขึ้นไปสู่ยอดปลี พระสงฆ์ ๑๐ รูปเจริญชัยมงคลคาถา พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานโดยเรียบร้อยด้วยแรงงาน ด้วยจิตอันเป็นกุศล พร้อมกันทั้งหมด โดยมิได้ใช้เครื่องกลใด ๆ ทั้งสิ้น

การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนพระมหาสถูปเจดีย์ ซึ่งมียอดสูงกว่า ๕๐ เมตร บนดอยเช่นนี้กองทัพอากาศได้ใคร่ครวญตลอดมาในขั้นแรกดำริว่าจะขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาบรรจุแต่ด้วยเหตุที่จะต้องคงนั่งร้านบนพระมหาสถูปเจดีย์ไว้ทำให้ไม่เรียบร้อย ประการหนึ่ง กับอาจจะมีลมพัดแรงหรือมีลมฝน ขณะประกอบพิธีนับว่าเสี่ยงต่อการกว้านรอกอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นยอดปลี กองทัพอากาศ จึงไม่เสี่ยงกับที่จะดำเนินการในพิธีนั้น และได้เลือกวิธีปฏิบัติ ขอรับพระราชทานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้วอัญเชิญขึ้นไปบรรจุประดิษฐานบนยอดปลีเอง บัดนี้ได้ประดิษฐานเสร็จเรียบร้อย



"ขอพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ และพระอรหันตธาตุ
ทั้งหลายที่ประดิษฐานแล้ว จงสถิตย์อยู่เป็นอมตะชั่วนิจนิรันดร์"

พระพุทธรูปประธาน

เมื่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ขึ้นนั้น องค์ประกอบสำคัญในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ คือ พระพุทธรูปประธานที่จะประดิษฐานไว้ภายในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ พระพุทธรูปประธานนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบพระมหาสถูปเจดีย์ได้เสนอแนวความคิดที่จะให้เป็นพระพุทธรูปศิลา-หินแกรนิต เพื่อให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม ซึ่งเป็นป่า เขา มีอากาศสงบเงียบ และหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ กองทัพอากาศเห็นด้วยกับแนวความคิดของสถาปนิก เพราะพระพุทธรูปหินแกรนิต หากมีสีเทาอมเขียวก็จะยิ่งงดงาม น้อมนำให้เกิดศรัทธาแก่ผู้ที่มาสักการะพระมหาสถูปเจดีย์ และพระรัตนตรัยได้อย่างดียิ่ง

กองทัพอากาศ ได้พิจารณารูปแบบและขนาดพระพุทธรูปและได้พิจารณาหาแหล่งที่จะสลักพระพุทธรูป ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว ปางประทานพร พระเกตุแบบมวยต่ำ ที่นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธ์ เป็นผู้ปั้นแบบขนาดหน้าตัก ๙.๙ นิ้ว

ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๙ ได้เริ่มติดต่อไปยัง นาวาอากาศเอก กฤษณะ สิทธิทูล ผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ณ กรุงจาการ์ตา และพระพุทธมนต์ปรีชา (พระครูสมบัติ) รองเจ้าอาวาสวัดไทยในกรุงจาการ์ตา ให้ช่วยหาช่างฝีมือดี และมีความชำนาญสามารถที่จะแกะสลัก พระพุทธรูปหินแกรนิตขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว ให้เสร็จได้ภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ เพื่อพร้อมที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายพระมหาสถูปเจดีย์ ภายในเดือนกันยายน ๒๕๓๐

การที่กองทัพอากาศ ได้ตัดสินใจจะจ้างช่างสลักหินจำหลักพระพุทธรูปที่อินโดนีเซียนั้น เหตุผลสำคัญก็คือ สามารถแกะสลักได้รวดเร็ว เพราะมีช่างแกะสลักหินมีฝีมืออยู่เป็นจำนวนมาก สามารถระดมการแกะสลักได้พร้อม ๆ กันหลายคนและในประเทศนั้นมีหินแกรนิตสีเทาอมเขียวขนาดใหญ่เนื้อเดียวหาได้ง่าย ทั้งราคาถูกกว่าการแกะในประเทศไทย

ในชั้นแรก พลอากาศโท วรนาถ อภิจารี รองเสนาธิการทหารอากาศ ได้ส่งตัวอย่างสีหินไปให้ผู้ช่วยทูตทหารอากาศ โดยให้ช่างพยายามหาสีหินที่จะแกะพระให้คล้ายกันก่อน ต่อมาได้ส่งรูปปั้นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๙.๙ นิ้ว ออกไปอินโดนีเซีย เพื่อให้ช่างแกะสลักใช้เป็นแบบ แล้วขยายหน้าตักขึ้นอีก ๑ เท่าตัว เพื่อทดสอบฝีมือและการขยายสัดส่วนว่าถูกต้องตามสัดส่วนและจะแกะได้งดงามเพียงใด

ประมาณต้นปี ๒๕๓๐ ผู้ช่วยทูตทหารอากาศฯ ได้ส่งพระพุทธรูปที่ช่างแกะสลักได้แกะสลักขยายจากต้นแบบที่ส่งออกไปมายังกองทัพอากาศ หลังจากที่ผู้ที่มีความสันทัดได้ตรวจและติชมแล้ว มีข้อจะต้องแก้ไข ๕ รายการ เช่น นิ้วมือขวาสั้นไป องค์พระบริเวณอุระดูหนา และอ้วนล่ำ หน้าตักแคบ เมื่อเทียบกับส่วนสูง ฯลฯ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ได้ส่งข้อที่จะต้องแก้ไขให้ผู้ช่วยทูตทหารอากาศและให้เจรจาต่อรอง และให้ทำสัญญาการว่าจ้าง นายอีโยมาน อาลิม มุสตาฟา (Inyoman Alim Mustapha) บ้านอำเภอมุนติลาน เมืองจ๊อกจาร์กาตา ดำเนินการต่อไป

เรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธรูปศิลานี้ หากจะได้อ่านรายงานของ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี เมื่อดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศต่อพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์
ผู้บัญชาการทหารอากาศในพิธีรับพระพุทธรูปศิลา เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๐ ณ สนามหลังกองบัญชาการกองทัพอากาศทุกท่านจะทราบความเป็นมาโดยชัดเจน ดังนี้

กราบเรียน ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ วันนี้
เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของงานการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุดอยอินทนนท์ คณะกรรมการอำนวยก่อสร้าง มีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และคุณหญิงได้กรุณามาประกอบพิธีสักการะรับพระพุทธรูปศิลาจำหลักอันเป็นมงคลอย่างยิ่งในวันนี้

การสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุดอยอินทนนท์ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์จอมทัพไทย ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา และกองทัพอากาศสถาปนามาครบ ๗๒ ปี นั้น ในห้องโถงภายในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ สถาปนิกได้ออกแบบให้ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา หน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว ให้เหมาะสมกับสถานที่ตั้งไว้ด้วย

นับย้อนไปก่อนหน้าที่ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศและคุณหญิง วนิดา ธูปะเตมีย์ ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ นั้น ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศได้เห็นชอบให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ณ กรุงจาการ์ตา ติดต่อขอความช่วยพระพุทธมนต์ปรีชา รองเจ้าอาวาสวัดจาการ์ตาธรรมจักราชยะ เป็นที่ปรึกษาและติดต่อว่าจ้างช่างชาวอินโดนีเซียผู้มีฝีมือ ณ อำเภอมุนติลาน เมืองจ๊อกจาการ์ตา ทดลองแกะสลักพระพุทธรูปด้วยหินแกรนิตสีเขียว ขยายแบบ ๑ เท่า จากตัวอย่างพระพุทธรูปที่ปั้นแบบส่งออกไปก่อนแล้ว เพื่อจะได้ทราบว่าช่างแกะสลักจะมีความสามารถที่จะขยายสัดส่วนได้ถูกต้อง และมีฝีมือการแกะสลักหินเป็นพระพุทธรูปได้สวยงามเพียงใด ต่อมาช่างผู้นั้นซึ่งมีชื่อว่า นายอีโยมาน มุสตาฟา ได้แกะสลักหินขยายแบบ ๑ เท่า เป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว สูง ๓๐ นิ้ว หนัก ๑๓๕ กิโลกรัม เสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๙ และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ได้ส่งทางอากาศมาถึงดอนเมืองเมื่อต้นมกราคม ๒๕๓๐ หลังจากได้ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาติชมพระพุทธรูปต้นแบบแล้ว จึงได้แจ้งข้อแก้ไขให้ถูกแบบพุทธลักษณะที่ต้องการให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ณ กรุงจาการ์ตา ทราบเพื่อแจ้งให้ช่างแกะสลักทราบ และได้มีการต่อรองราคา พร้อมทั้งตกลงว่าจ้างและทำสัญญาว่าจ้าง เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ เป็นเงิน ๔๐ ล้านรูเปียร์ (ประมาณ ๖ แสนบาทเศษ) โดยให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ น.อ. กฤษณะ สิทธิทูล เป็นผู้ลงนามสัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้าง และมีนายสันทัด เกียรติทัต อัครราชทูตที่ปรึกษาและนายทวี สมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพฯ ร่วมเป็นพยานนอกจากนี้ยังมีสักขีพยานอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น พระพุทธมนต์ปรีชา รองเจ้าอาวาสวัดไทย และพระปัญญาวโร พระภิกษุชาวอินโดนีเซีย ซึ่งจำพรรษาที่วัดเมนดุด เมืองจ๊อกจาการ์ตา ไม่ไกลจากบ้านช่างแกะสลักร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ก่อนที่จะมีการลงนามทำสัญญาว่าจ้างนั้น ประมาณเดือนมกราคม ๒๕๓๐ นายช่างอีโยมานได้ไปสำรวจหาหินสีเขียวบนภูเขาเบิร์ดโจ อำเภอกอร์เดียน เมืองจ๊อกจาการ์ตา อันเป็นอำเภอบ้านเกิดท่านประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ภูเขานั้นเป็นภูเขาเล็ก ๆ ลาดชันขึ้นไปหาหน้าผาสีเขียว นายช่างได้พิจารณาการตัดเจาะหินให้เป็นรูปแท่งใหญ่ที่สมบูรณ์ตามต้องการ มีความเห็นว่าดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อตัดเจาะหินเข้าไปในภูเขา อาจจะไม่ได้แท่งหินที่สมบูรณ์หรืออาจมีรอยตำหนิได้ แต่เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๐ เป็นวันที่จะได้ตัดนำหินมานั้น ปรากฏว่า เมื่อได้ประกอบพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขออนุญาตเจาะและสกัดหินออกมาแล้ว ก็ได้หินเป็นก้อนอิสระเนื้อเดียวออกมาโดยง่าย ทั้งมีรูปทรงสัณฐานสามเหลี่ยมสมบูรณ์ทุกอย่างตามที่จะใช้แกะสลักพระพุทธรูปขนาดที่ต้องการ กล่าวกันว่าประหนึ่งมีผู้มาสร้างหรือเนรมิตหินก้อนนี้ไว้ สำหรับแกะสลักเป็นพระพุทธรูปนับเป็นที่อัศจรรย์

ในชั้นต้น ช่างได้ระดมทุนแกะสลักหินขึ้นรูปโกลนที่บริเวณภูเขานั้นก่อน แล้วจึงได้นำหินโกลนมาแกะสลัก ณ บ้านนายช่างอีโยมาน เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๐ นายช่างประมาณว่าจะแล้วเสร็จในปลายพฤษภาคม หรือต้นมิถุนายนนี้ การแกะสลักได้ดำเนินต่อมาด้วยดีและก่อนหน้าที่จะถึงวันวิสาขบูชา ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ นั้น พระพุทธมนต์ปรีชาเห็นว่า วันวิสาขบูชา มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ต่อพุทธศาสนิกชน เป็นอย่างยิ่ง หากจะขอให้นายช่างแกะสลักเร่งรัดงานให้เสร็จสวยงามเรียบร้อยก่อนก็จะเป็นนิมิตมงคลอย่างยิ่ง จึงขอร้องนายช่างให้ช่วยเร่งรัดงานให้เรียบร้อยโดยเร็ว โดยมิได้บอกเหตุผล และงานก็สำเร็จเรียบร้อย

เมื่อการแกะสลักพระพุทธรูปศิลาสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายในอินโดนีเซีย ซึ่งมีความปิติชื่นชม และศรัทธาในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เห็นว่าเป็นปูชนียวัตถุมงคลสำคัญ ควรจะจัดให้มีการรับส่งงานให้เรียบร้อยถูกต้องเป็นสวัสดิมงคล จึงได้กำหนดจัดพิธีรับส่งมอบงานในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมานี้ โดยนายช่างผู้แกะสลักได้นิมนต์พระสงฆ์อันมีพระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายไทย ฝ่ายอินโดนีเซีย และภิกษุชาติอื่นมาร่วมเจริญพระพุทธมนต์ มีจำนวน ๒๙ รูป และมีข้าราชการผู้ใหญ่คือ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา อธิบดีกรมการศาสนาอินโดนีเซีย คหบดี ผู้มีจิตศรัทธา พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานที่บ้านนายช่างอีกประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน การรับมอบงานเป็นพิธีการเป็นไปโดยเรียบร้อย

ในการขนส่งพระพุทธรูปจากเมืองจ๊อกจาการ์ตามาลงเรือ ณ ท่าเรือต้นจุงปิอ๊อก เมืองจาการ์ตานั้นได้ลำเลียงมาทางรถยนต์เป็นระยะทาง ๖๐๐ กิโลเมตร เรือได้ออกจากท่าเมืองจาการ์ตา เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ผ่านเมืองสุราบายา มาถึงท่าเรือคลองเตยเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๐ และกรมขนส่งทหารอากาศได้ชะลออัญเชิญออกจากท่าเรือมาพักรอไว้ที่กรมขนส่งทหารอากาศ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๐ นี้

ครั้นเมื่อวันอังคารที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๐ ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศได้กรุณาให้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาองค์นี้เข้าประดิษฐานไว้ชั่วคราว ณ ที่แห่งนี้ก่อน จนกว่าจะได้อัญเชิญขึ้นไป ณ พระสถูปเจดีย์ดอยอินทนนท์ ดังที่ได้ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้านี้แล้ว

บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลเวลาฤกษ์แล้ว กระผมในนามคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขอเรียนเชิญท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และคุณหญิง สักการะรับพระพุทธรูปศิลา อันเป็นมงคลยิ่งนี้ไว้เป็นของกองทัพอากาศ ขออานุภาพแห่งพระพุทธรูปศิลาองค์นี้ ได้คุ้มครอง และประทานพรให้กองทัพอากาศ ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และคุณหญิง ตลอดจนข้าราชการ ลูกจ้าง และครอบครัวในกองทัพอากาศทุกคน ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง สมบูรณ์พูนสุข ปราศจากภยันตราย สวัสดีมีชัย ตลอดจนชั่วกาลนาน


การเคลื่อนย้าย - ชะลอพระพุทธรูปศิลา


๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐ ชะลอพระพุทธรูปขึ้นรถ
ลากจูงเตรียมเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาของคำรายงานดังกล่าว ได้แสดงความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปศิลาจำหลักจากประเทศอินโดนีเซียได้อย่างสมบูรณ์ พระพุทธรูปศิลาได้ประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ สนามหญ้าหลังตึกกองบัญชาการกองทัพอากาศ อยู่จนถึง วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จึงได้มีการเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ในขณะนั้นได้ดำเนินไปถึงขั้นที่จะต้องปูพื้นหินอ่อนภายในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์แล้ว จึงได้เร่งก่อสร้างชุกชีสำหรับประดิษฐานพระให้เสร็จ ซึ่งเสร็จก่อนหน้าไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมงที่จะอัญเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐาน หากจะปูพื้นหินอ่อนให้เสร็จก่อนอัญเชิญพระพุทธรูปศิลาแล้ว อาจจะเกิดความชำรุดเสียหายขึ้นแก่พื้นหินอ่อนได้ อีกประการหนึ่งมีความคิดว่า ควรจะได้อัญเชิญไปดอยอินทนนท์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อถือเป็นนิมิต ดังนั้นพระพุทธรูปศิลาประดิษฐานให้ข้าราชการ และลูกจ้างสักการะอยู่ไม่ครบเดือนดี ก็ได้เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากกองบัญชาการกองทัพอากาศ เมื่อเช้ามืดวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐

การอัญเชิญพระพุทธรูปศิลาเข้ามาประดิษฐานในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพอากาศก็ดี หรืออัญเชิญต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ก็ดี เจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของพิธีกรรมที่ท่านผู้รู้ได้แนะนำให้ปฏิบัติ เช่น ในตอนเย็นวันที่อัญเชิญเข้าประดิษฐานนั้นได้มีการปักฉัตรโดยรอบเป็นชั้น ๆ แล้วโยงสายสิญจน์เป็นวงรอบตามชั้นเป็นตอน ๆ และนิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์เปิดช่องทางให้โล่ง ให้สว่าง ตามลำดับ และในเย็นวันก่อนอัญเชิญพระพุทธรูปจะเดินทางและตอนเช้ามืดก่อนจะเดินทางออกจากกองบัญชาการกองทัพอากาศไปจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ประกอบพิธีกรรมขอความสวัสดี ราบรื่นจงบังเกิดแก่การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปด้วย

วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐ เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปขึ้นรถลากจูง

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ เวลา ๐๔.๐๐ น. ขบวนรถยนต์เชิญพระพุทธรูปออกจากกองบัญชาการกองทัพอากาศไปยังกองบิน ๔๑ จังหวัดเชียงใหม่ และในวันเดียวกันเวลา ๑๕.๕๐ น. ขบวนรถยนต์ก็ได้ถึงกองบิน ๔๑ ในเย็นวันนี้ กองบิน ๔๑ ได้ตกแต่งประดับดอกไม้โดยรอบฐานพระพุทธรูป เพื่อในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จะได้นำเข้าเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนบางสาย เพื่อเป็นนิมิตให้พระพุทธรูปได้แผ่บารมี บันดาลความสุข ความเจริญ ร่มเย็น แก่สาธุชนชาวเชียงใหม่ ก่อนจะได้ไปประดิษฐานจำศีลบนยอดดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดต่อไป

พอบ่าย ๓ โมง คณะของผู้เขียน ซึ่งมี พล.อ.ต.ประชา มุ่งธัญญา จก.สบ.ทอ., น.อ.หญิงเยาวภา ณ ลำพูน รอง ผอ.กสม.สบ.ทอ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างฯ และผมในฐานะผู้สื่อข่าวพิเศษสารชาวฟ้า ก็ออกเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อไปอำนวยการกำกับดูแล ตลอดจนให้คำแนะนำ และสำหรับผมเพื่อไปทำข่าว คณะเราเดินทางถึงท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. คือ บ่าย ๔ โมง พอไปถึงก็ทราบว่า ขบวนพระพุทธรูปไปถึงก่อนเราประมาณ ๑๐ นาที คือ เวลาประมาณ ๑๕.๕๐ น. คณะของเราได้ไปดูองค์พระพุทธรูปซึ่งอยู่บนรถเทเลอร์ และจอดอยู่บริเวณโรงเก็บเครื่องบิน เอฟ-๕ ของกองบิน ๔๑ จก.สบ.ทอ. ได้สั่งการให้หันองค์พระเสียใหม่ โดยกลับรถยนต์ให้องค์พระหันหน้าไปทางดอยสุเทพ ซึ่งเป็นทิศตะวันออก จากนั้นเราก็เข้าที่พัก ก่อนที่จะกลับที่พัก จก.สบ.ทอ.ได้ขอร้องให้ ผบ.กองบิน ๔๑ คือ น.อ.เกียรติศักดิ์ เทพกุญชร รื้อสายโยงบางสายออก เพื่อให้ดูสวยงาม และตกแต่งรถด้วยดอกไม้พอสมควรเนื่องจากวันรุ่งขึ้นจะเคลื่อนย้ายพระเข้าไปในถนนบางสายของเชียงใหม่เมื่อประชาชนสองข้างทางพบเห็นจะได้ดูสวยงาม ซึ่ง ผบ.กองบิน ๔๑ ก็รับจะทำให้

วันรุ่งขึ้นวันที่ ๒ ก.ค. ๓๐ จก.สบ.ทอ. จัดพร้อมบริเวณที่จอดรถ เวลา ๐๗.๓๐ น. เพื่อรอรับ พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผช.ผบ.ทอ.ประธานคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ ซึ่งจะเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ในเช้าวันนั้น เพื่ออำนวยการในการนำพระขึ้นไปประดิษฐานในพระสถูปเจดีย์บนดอยอินทนนท์ เวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. ผช.ผบ.ทอ.ก็เดินทางถึง กองบิน ๔๑ และไปสักการบูชาพระพุทธรูป โดยนำพวงมาลัยไปคล้องที่พระหัตถ์ขวาขององค์พระ แล้วเคลื่อนขบวนออกเดินทางทันที ขบวนรถที่เคลื่อนย้ายองค์พระพุทธรูป ได้เคลื่อนออกจากประตูกองบิน ๔๑ ทางด้านที่จะไปดอยสุเทพ ตัดผ่านถนนเล็ก ๆ มุ่งสู่สี่แยกโรงแรมรินคำ ผ่านแจ่งหัวริน-รร.พัฒโนทัยพายัพสวนบวกหาด ไปตามถนนบุญเรืองฤทธิ์ แล้วไปจอดอยู่ใกล้ ๆ กับทางเข้าท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อนำกระถางดอกไม้ที่ตกแต่งออก และโยงสายรัดองค์พระใหม่ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้วจึงเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่ดอยอินทนนท์ เวลา ๐๙.๒๐ น. ขบวนเดินทางไปถึงบริเวณจอดรถของพระสถูปเจดีย์ เวลา ๑๒.๐๐ น. ทุกคนขึ้นไปรับประทานอาหารบน ศคร.ดอยอินทนนท์ โดยมี น.ท.อำพิณ ไม้เจริญ รอง ผบ.ศคร.ดน.อำนวยความสะดวก รับประทานอาหารเสร็จก็ลงมาเตรียมเคลื่อนพระลงจากรถเทเลอร์ เวลา ๑๓.๓๐ น. และชักขึ้นสู่แท่นในองค์พระสถูปเจดีย์ต่อไป ในช่วงบ่าย พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผช.ผบ.ทอ.ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ท่านจึงมอบให้ พล.อ.ต.ประชา มุ่งธัญญา จก.สบ.ทอ.อำนวยการชักพระให้เสร็จเรียบร้อย และรายงานความคืบหน้าให้ท่านทราบถ้าทำได้

ท่านที่เดินทางไปชมพระสถูปเจดีย์ตอนนี้ จะเห็นว่าพระพุทธรูปแกรนิตหนัก ๖ ตัน ประดิษฐานบนแท่นในห้องโถงพระสถูปเจดีย์เรียบร้อยแล้ว แต่ท่านไม่ทราบหรอกว่าคณะที่ทำการนำขึ้นไปมีความลำบากเพียงใด นอกจากท่านจะอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ

พล.อ.ต.ประชา มุ่งธัญญา จก.สบ.ทอ.เป็นผู้อำนวยการโดยตลอด ต่อไปจะเรียกท่านว่า ผอ.ชักพระฯ โดยมี น.อ.หญิงเยาวภา ณ ลำพูน และผมเป็นผู้สังเกตการณ์และให้กำลังใจ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการชักพระในครั้งนี้ คือ จ.ส.อ.ติ่ง กิติญาณทรัพย์ สังกัด ช.พัน. ๑ รอ. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ พร้อมคณะอีก ๒ ถึง ๓ คน ตามประวัติ จ.ส.อ.ติ่งฯเคยชักพระมาแล้วนับร้อย ๆ องค์ และเคยไปชักพระที่ประเทศอินเดียมาแล้ว ขนาดใหญ่กว่านี้ก็เคยชัก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ชักพระขนาด ๖ ตัน ขึ้นภูเขาผ่านบันไดทั้งหมด ๑๓๐ ชั้น และมีความลาดชันประมาณ ๔๕ องศา ในคณะของ ทอ.นอกจาก ผอ.ชักพระแล้ว ก็มี น.อ.อนุธวัช บุณยสิงห์, น.อ.ประกลป์ วิจิตรานุช, น.ท.อำพิณ ไม้เจริญ, ร.ท.ณรงค์ศักดิ์ หม่อมศิลา, ทหารกองประจำการ ศคร.ดน. ๖๐ คน และทหารกองประจำการ จากกองบิน ๔๑ อีก ๔๐ คน

วิธีการปฏิบัติเขาจะใช้กว้านหรือรอกขนาดใหญ่ซึ่งใช้ลวดสลิงขนาด ๔ หุน เป็นเครื่องมือหลัก ปลายลวดสลิงของกว้านขนาดใหญ่ ๒ ตัว จะตรึงกับแท่นไม้ฐานพระส่วนอีกเส้นหนึ่งจะยึดตรึงไว้กับส่วนบนขององค์พระตัวกว้านจะไปยึดตรึงอยู่กับเสาคอนกรีตของบันไดทางขึ้น ซึ่งมีอยู่เป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ก็มีเชือกมะนิลาขนาดใหญ่ ๒ เส้น ปลายแต่ละเส้นตรึงไว้ที่ส่วนบนขององค์พระ ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งจะใช้ทหารข้างละ ๔๐ คน ดึงให้ตึงอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันพระโค่นไปทางซ้ายหรือทางขวา ส่วนการป้องกันการโคนมาทางด้านหลังคงใช้ลวดสลิงเส้นที่ ๓

เมื่อเตรียมการทุกสิ่งเรียบร้อยเจ้าหน้าที่เข้าอยู่ในตำแหน่งเชือกและลวดสลิงตึงทุกเส้นแล้ว จ่าติ่งก็จะสั่งให้โยกคันกว้านทั้ง ๓ อันพร้อม ๆ กัน องค์พระก็จะค่อย ๆ ขยับขึ้นไปครั้งละประมาณหนึ่งเซนติเมตร ผมลืมบอกไปหน่อยว่า แท่นพระซึ่งทำด้วยไม้หนาและหนักเกือบหนึ่งตันนั้นจะต้องลากขึ้นไปบนเสาไม้หน้า ๘ นิ้ว จำนวน ๒ ต้น วางขนานแนบไปกับแนวขั้นบันได แล้วลากแท่นไม้ไปตามแนวเสาไม้สองต้นดังกล่าว พอแท่นไม้จะเฉออกไปสักนิดหน่อยก็ต้องสั่งระงับและทำการงัดผลักดันให้ตรงแนว ทำอย่างนี้ตลอดเวลา ฟังดูก็ง่าย ๆ ใช่ไหมครับ แต่ที่มันยากตรงที่เราทำงานท่ามกลางสายฝนและลมแรง อากาศหนาวจัด ตอนแรก ๆ ก็อุณหภูมิ ๑๐ องศา แต่พอค่ำลง ๆ อุณหภูมิก็ลดลงเรื่อย ๆ เวลา ๑๔.๓๐ น. ชักพระขึ้นถึงชานพักบันได ชั้นที่ ๑ และเวลา ๑๗.๐๐ น. ได้ถึงชานพักบันได ชั้นที่ ๒ วันนั้นคณะชักพระกะว่าจะชักขึ้นให้เสร็จ แม้จะดึกดื่นเพียงใดก็ตาม หลังจากหยุดรับประทานอาหารเย็น (ข้าวห่อ) ที่บริเวณก่อสร้างแล้วก็ทำงานต่อ เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ อากาศหนาวเหน็บ ลมแรงขนาด ๘๐ กม./ชั่วโมง พร้อมปุยเมฆลอยผ่านบริเวณทำงานจนบางครั้งยืนอยู่ติดกันยังมองหน้ากันไม่เห็นแสงไฟจากสปอตไล้ต์เห็นเพียงดวงเดียวทำให้เพิ่มความยากลำบากในการทำงานยิ่งขึ้น คณะทำงานมุมานะอยู่จนกระทั้ง ๒๒.๐๐ น. ของคืนวันนั้น เมื่อเห็นว่าทุกคนเมื่อยล้า อุณหภูมิลดลงเหลือ ๓ องศา สภาวะอากาศเป็นอุปสรรคคราวกับเทพพรหมไม่ยอมเพราะท่านยังไม่ได้ฤกษ์จะเข้าห้องโถงพระสถูปเจดีย์ ผอ.ชักพระ จึงสั่งให้หยุดทำงานเพื่อพักผ่อนและมาทำต่อในวันรุ่งขึ้น

คณะ ผอ.ชักพระ ลงจากเขาเดินทางกลับมาค้างคืนที่เชียงใหม่ ถึงเชียงใหม่เวลาหกทุ่มครึ่ง และท่านนัดทุกคนพร้อมเวลา ๐๗.๓๐ น. และให้ทุกคนพร้อมจะทำงานในบริเวณการก่อสร้างในเวลา ๐๙.๐๐ น. เมื่อได้เวลาก็ลงมือทำงานค่อย ๆ ขยับขึ้นไปทีละนิด ๆ จนถึงเวลา ๑๑.๐๙ น. องค์พระเคลื่อนถึงประตูห้องโถงพระสถูปเจดีย์ แล้วชักเคลื่อนต่อไป เวลา ๑๓.๐๐ น. เคลื่อนถึงหน้าชุกชี หยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน พอบ่ายสองโมงครึ่งก็เริ่มลงมือชักพระขึ้นชุกชี ดึงเฉพาะองค์พระเวลา ๑๔.๕๐ น. ค่อย ๆ ชักขึ้นไปทีละน้อย จนถึงกลางชุกชี เวลา ๑๕.๓๕ น. นับว่าช่วงตั้งแต่ขึ้นชุกชีต้องประณีตมาก ยากที่สุดเพราะชุกชีหินอ่อนสีดำเป็นเงาจะแตกไม่ได้ ผอ.ชักพระยอมเสี่ยงทัั้ง ๆ ที่ น.อ.อนุวัชฯ ไม่ยอมให้แตกหัก ไม่มีทางเลือก ผอ.ชักพระ สั่งแตกเป็นแตก การยกพระขึ้นบนแท่นมีการเตรียมการกันอีกมากพอสมควร วิธีปฏิบัติก็คล้าย ๆ กัน และแล้วเวลา ๑๕.๕๐ น. ของวันที่ ๓ ก.ค. ๓๐ พระพุทธรูปแกรนิตหนัก ๖ ตัน ก็หลุดออกจากท่อนเหล็กเส้นขนาด ๔ หุน ซึ่งใช้ทำเป็นลูกกลิ้งเพื่อให้เคลื่อนพระสะดวกยิ่งขึ้น

ผอ.ชักพระ ได้สั่งให้รื้อเชือก รื้อลวดสลิงทุกเส้นออกทำความสะอาดบริเวณ ใช้ปั้นจั่นยกแท่นและอุปกรณ์ตลอดจนเสาไม้ ท่อเหล็ก ลงมาขึ้นรถ ขส.ทอ. ซึ่งจอดอยู่บริเวณลานจอด เชิญผู้เกี่ยวข้องมาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก เสร็จแล้วท่านก็เปลี่ยนสถานภาพจาก ผอ.ชักพระ กลับมาเป็น จก.สบ.ทอ.ตามเดิม คณะของเรานั่งรถลงเขากลับมาเชียงใหม่ และนั่งเครื่องบินเที่ยว ๒ ทุ่ม ๑๕ นาที กลับมาถึงกรุงเทพฯ ด้วยความปลอดภัย นี่เพราะไม่ใช่อิทธิพลความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปที่ชักขึ้นไปประดิษฐานก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะอะไร องค์พระพุทธรูปไม่มีรอยขีดข่วนแม้แต่น้อย ขึ้นประดิษฐานได้ตรงจุดที่ ผอ.ชักพระ กำกับให้สัญญาณ ฐานชุกชีไม่มีแม้แต่รอยบิ่นที่ชายขอบตอนหน้าที่พระขึ้น ไม่มีอุบัติเหตุไม้หล่นทับ ลวดหรือท่อเหล็กทำอันตรายแก่ใคร หรือมีใครพลัดตกหกล้ม เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปศิลาขึ้นประดิษฐานบนชุกชีได้สำเร็จถูกต้องเช่นนี้เวลาอันเหนื่อยยากเว้นก็มลายหายไป เหลือทิ้งไว้แต่ความปลื้มปีติประทับใจในบุญบารมีที่ทุกคนได้ช่วยกันสร้างในครั้งนี้ทั่วกัน

การชะลอพระพุทธรูปศิลานับตั้งแต่ที่ปะรำหลังกองบัญชาการกองทัพอากาศ จนขึ้นมาประดิษฐานอยู่บนชุกชีห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์นี้ คณะผู้ดำเนินการทั้งหมดของ จ.ส.อ.ติ่งฯ ได้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจเป็นที่สุดว่า เคยชักพระ ชะลอพระมามากมาย แม้ประเทศอินเดีย และที่ใด ๆ อีกหลายแห่ง ไม่เคยสักครั้งเดียวจะขึ้นสู่ยอดเขาเช่นนี้ นับเป็นบุญเป็นที่สุด คณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์คิดว่า หากจะว่าจ้างคณะหนึ่งคณะใดเป็นเงินจำนวน ๒ แสนบาท เพื่อชะลอพระองค์นี้ คาดว่าคงจะไม่มีใครรับ เพราะยากลำบากและเสี่ยงที่จะเสียหาย คณะเจ้าหน้าที่ที่ไปอำนวยการชะลอพระขึ้นพระมหาสถูปเจดีย์ได้ระลึกและขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตลอดเวลา พระพุทธรูปศิลานี้มีอยู่องค์เดียวในโลก ขออย่าให้มีเหตุต้องบุบสลาย แตกกระเทาะ แม้แต่น้อยนิด จะเกิดขึ้นแล้วนำมาต่อติดให้มีตำหนิใด ๆ มิได้ และแล้วก็สมดังคำอธิษฐาน คณะของ จ.ส.อ.ติ่ง กิติญาณทรัพย์ ได้ลงทุนซื้อกว้านเองและไม่คิดค่าจ้างแรงงานใด ๆ ทั้งสิ้น คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ ขออนุโมทนาผู้มีจิตศรัทธานี้ไว้เป็นอย่างยิ่ง



ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระพุทธรูปศิลา

ต่อมาเมื่อต้นเดือน ๒๕๓๐ กองทัพอากาศได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๐ แจ้งว่า ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปแล้วว่า “พระพุทธบรมศาสดา นวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” แปลได้ความว่า พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาสร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระชนมพรรษา ๖๐

พระพุทธรูปจำลองหน้าตัก ๙ นิ้ว ในการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ คณะกรรมการอำนวยการสร้างฯ ได้เห็นชอบที่จะมีการบรรจุพระพุทธรูปไว้ภายในด้วย โดยให้สถาปนิกคำนวณออกแบบที่ที่จะบรรจุองค์พระพุทธรูปขนาดเท่าต้นแบบเดิมในการสร้างพระพุทธรูปศิลา จำนวน ๙๙๙ องค์ สถาปนิกได้พิจารณาและออกแบบให้สามารถบรรจุและประดิษฐานในที่องค์พระมหาสถูปเจดีย์ ไว้ ๒ ระดับ

  • ระดับบนสุด (Plan ระดับ ๖) ระดับเดียวกันหรือเสมอกับระดับที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ คือ ที่ยอดปลี ประดิษฐานโดยรอบพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๙๙ องค์
  • ระดับล่างลงมา (Plan ระดับ ๕) ระดับโคนกลีบบัว ๘ กลีบ สามารถบรรจุได้ ๙๐๐ องค์

พระพุทธบรมศาสดาจำลอง

คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงตกลงใจสร้างและได้บอกบุญแก่ราชการ และลูกจ้างในกองทัพอากาศตลอดจนครอบครัว รวมไปถึงอดีตข้าราชการกองทัพอากาศด้วย โดยกำหนดราคาเช่าเป็น ๒ ราคา สำหรับที่จะบรรจุในระดับบนสุด ๙,๙๙๙ บาท ระดับล่างลงมา ๔,๙๙๙ บาท รูปแบบขององค์พระพุทธรูปใน ๒ ระดับ เหมือนกันหรือพิมพ์เดียวกัน ต่างกันที่สีของผิวสีองค์พระและคณะกรรมการอำนวยการสร้างฯ ได้ให้ผู้มีจิตศรัทธาสร้างจารึกชื่อสร้างและชื่อผู้ที่จะอุทิศ หรือข้อความได้ตามประสงค์ และศรัทธา ที่ฐานพระพุทธรูปที่ตนบริจาคทรัพย์สร้างได้ รายพระนามและรายชื่อผู้บริจาคทรัพย์สร้างพระพุทธรูปได้รวบรวมไว้เป็นหลักฐานในภาคผนวกของหนังสือนี้แล้ว

พระพุทธรูปจำลองทั้ง ๙๙๙ องค์ ได้จารึกชื่อพระพุทธรูปอันเป็นชื่อที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานได้ที่ฐานพระทุกองค์ และเมื่อช่างหล่อได้ส่งมอบพระพุทธรูปให้กองทัพอากาศทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ได้นำพระพุทธรูปที่จารึกชื่อผู้สร้างทั้งหมดนั้นมาตั้งรวมไว้ที่กองบัญชาการกองอากาศเป็นเวลา ๓ วัน เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาเหล่านั้นมาอธิษฐานอนุโมทนา ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปทั้งหมดขึ้นไปประกอบพิธีพุทธาภิเษกภายในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์ต่อไป

พระพุทธรูปจำลอง ๙๙๙ องค์ ได้เคลื่อนย้ายโดยขบวนรถยนต์ออกจากกองทัพอากาศไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๐ และขึ้นสู่ดอยอินทนนท์ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๐



พระพิมพ์ “พระพุทธบรมศาสดา” เนื้อผง

คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ได้พิจารณาเห็นว่า ในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์พระมหาสถูปเจดีย์นั้น นอกจากจะได้บรรจุพระพุทธรูปจำลองหน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวน ๙๙๙ องค์ไว้แล้ว หากจะให้สมบูรณ์ดั่งคติที่โบราณได้สร้างไว้อีกอย่างหนึ่งคือ การบรรจุพระพิมพ์ไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ หรือพระเจดีย์องค์ใหญ่ ๆ ไว้ ซึ่งคนในชั้นหลังได้พบเห็นกันตลอดมามากแล้วในครั้งนี้ก็น่าจะได้กระทำเช่นเดียวกัน จึงได้ดำริที่จะจัดสร้างพระพิมพ์ขึ้นจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ เพื่อบรรจุไว้และให้ผู้มีจิตศรัทธาเช่าไว้เป็นสิ่งสักการะยึดเหนี่ยวปฏิบัติธรรมและเป็นมงคล

วัตถุที่จะนำมาสร้าง คณะกรรมการอำนวยการสร้างฯ ได้พยายามศึกษาและหาวัตถุมงคลอันมีความสำคัญยิ่งมาสร้างพระพิมพ์ “พระพุทธบรมศาสดา” เพื่อให้บังเกิดพุทธานุภาพเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของสาธุชนทั้งหลาย

วัตถุมงคลที่ได้นำมาคลุกเคล้าเป็นมวลสารเนื้อพระพิมพ์ มีดังนี้

  • ผงของพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) วัดระฆังโฆษิตาราม ๑๐๐ ปี
  • ผงของพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) วัดใหม่อมตรส กทม.
  • ผงพระของพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส จากวัดชิโนรสาราม กทม.
  • ผงพระของพระ ม.จ.ปิลันธน์ฯ วัดระฆังโฆษิตาราม กทม.
  • ผงพระกริ่ง สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
  • ผงพระจากวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กทม.
  • ผงขุยทองพระพุทธรูป ปางประทานพร ภปร. ปี ๒๕๐๘
  • ผงของหลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช พระนครศรีอยุธยา
  • ผงของหลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง บางกรวย ปทุมธานี
  • ผงของพระเถราเถระ เกจิอาจารย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ได้จากข้าราชการกองทัพอากาศ ที่คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ประกาศเชิญชวนให้นำวัตถุมงคลพระผง ที่ชำรุดแตกหักมาดำเนินกรรมวิธีผสมคลุกเคล้ากันไปด้วย รูปแบบพิมพ์นี้ ได้แกะสลักให้เป็นรูปพระพุทธบรมศาสดาฯ ที่ประดิษฐานในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์

พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปและพระพิมพ์ คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ได้กำหนดให้เคลื่อนย้ายชะลอพระพุทธรูปศิลา “พระพุทธบรมศาสดา นวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ขึ้นประดิษฐานบนชุกชีและนำพระพุทธรูปจำลองหน้าตัก ๙ นิ้วจำนวน ๙๙๙ องค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ขึ้นไปจัดตั้งสำหรับประกอบพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๐ ณ ห้องโถงภายในพระมหาสถูปเจดีย์

กองทัพอากาศ ได้แต่งตั้งให้ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้อำนวยการพิธีและ พลอากาศตรี ประชา มุ่งธัญญา เจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการพิธี

การประกอบพิธีพุทธาภิเษกในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์ นับเป็นการจัดพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อจะให้พิธีกรรมถูกต้องตามคติทั้งในส่วนทางภาคเหนือและที่กองทัพอากาศต้องการ โดยเฉพาะเป็นการพุทธาภิเษกบนดอยที่สูง เช่น บริเวณดอยอินทนนท์ ซึ่งระหว่างนั้นเป็นช่วงที่มีฝนตกตลอดเกือบทุกวัน อากาศหนาวเย็น การก่อสร้างสถานที่ยังไม่เรียบร้อย มีที่ทางเป็นสัดส่วนให้สะดวกสบาย

หน่วยเกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น กรมช่างโยธาทหารอากาศ (ชย.ทอ.) กรมพลาธิการทหารอากาศ (พธ.ทอ.) กองบิน ๔๑ ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ (ศคร.ดน.) กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ(ยศ.ทอ.) กรมสารบรรณทหารอากาศ (สบ.ทอ.) กรมขนส่งทหารอากาศ (ขส.ทอ.) กรมลาดตระเวนทางอากาศ (ลวอ.) กองบิน ๖ เป็นต้น ต้องร่วมมือจัดเตรียมการต่าง ๆ ให้พร้อม และครบถ้วนตามพิธี

กำหนดพิธีเป็นดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ ๓ วันศุกร์ที่ ๔ และวันเสาร์ที่ ๕ กันยายน เวลา ๑๖.๓๐ น. พระสงฆ์ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์

ในวันที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ทั้ง ๓ วันนั้นได้จัดตั้งประกอบสิ่งต่าง ๆ สำหรับพิธีพุทธาภิเษกครบถ้วนทั้งหมดในห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิธีได้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลางแจ้งทั้ง ๓ วัน ขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนวยสภาวะอากาศให้ปลอดโปร่งในช่วงเย็นที่เจริญพระพุทธมนต์ ให้โปร่งใส ให้สงบ ปรากฏว่า ในวันที่ ๓ กันยายน ในช่วงบ่ายก่อนที่พระสงฆ์จะเดินทางขึ้นถึงพระมหาสถูปเจดีย์ มีฝนตกมาก ลมแรงแต่เมื่อใกล้เวลาเจริญพระพุทธมนต์ ก็ซาลงและหายไปต้องใช้ทหารกั้นร่มกั้นฝนปรอย (แบบประพรมน้ำพระพุทธมนต์) ให้พระสงฆ์รับขึ้นไป แต่ฝนก็หายเด็ดขาดเมื่อเจริญพระพุทธมนต์ ฟ้าเปิดตลอดมีแดดทอแสงเข้ามาซึ่งอากาศแจ่มใส และพระอาทิตย์คล้อยต่ำเหนือยอดเขาทางตะวันตก สำหรับในวันศุกร์ที่ ๔ อากาศเปิดตลอดวันตั้งแต่เช้า ไม่มีเมฆฝนเลยคนงานทุกคนที่อยู่ทำงานก่อสร้างบนพระมหาสถูปเจดีย์ กล่าวกันทุกคนว่าไม่เคยมีเลยที่ฟ้าเปิดให้มีแดดทั้งวันเช่นนี้ นับตั้งแต่ขึ้นมาก่อสร้างเป็นเวลา ๑๐ เดือนแล้ว สำหรับในวันเสาร์ที่ ๕ กันยายน ในตอนเช้ามีฝนผ่านเล็กน้อย ตอนบ่ายอากาศดี แต่มีฝนผ่านอีกช่วงหนึ่งแล้วไม่มีอีก เมื่อพระสงฆ์ได้ขึ้นมาถึงพระมหาสถูปเจดีย์ และเจริญพระพุทธมนต์ ทหารประจำการที่เตรียมไว้สำหรับกางร่มถวายขณะรับส่งพระสงฆ์ขึ้นพระมหาสถูปเจดีย์นั้นไม่มีความจำเป็นอีกเลย

พระสงฆ์ที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ตอนเย็นมีดังนี้

วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๐

  • พระราชสิทธาจารย์ วัดพระสิงห์
  • พระครูสุวิทยธรรม วัดพระธาตุศรีจอมทอง
  • พระครูสุนทรพรหมคุณ วัดน้ำตกแม่กลาง
  • พระครูอินทญาณรังศรี วัดพุทธนิมิตร
  • พระครูทัศนิยโศภณ วัดเชตวัน
  • พระครูมนูญธรรมาภรณ์ วัดมหาวัน
  • พระครูโกวิทสารธรรม วัดพวกเปีย
  • พระครูประจักษ์พัฒนคุณ วัดแสนฝาง
  • พระครูอุปถัมภ์ศาสนคุณ วัดป่าแพ่ง

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๐

  • พระครูมงคลคุณากร วัดหม้อคำตอง
  • พระครูมานิตย์รัตนคุณ วัดพระสิงห์
  • พระครูมหาเจติยาภิบาล วัดเจดีย์หลวง
  • พระครูถาวรสาธุวัตร วัดพวงช้าง
  • พระครูอนุสรณ์ศิลขันธ์ วัดหมื่นล้าน
  • พระครูโสภณปริยัติ วัดพระสิงห์
  • พระครูปลัดบุญเพ็ง วัดเจดีย์หลวง
  • พระครูปลัดเจริญ วัดเจดีย์หลวง
  • พระครูใบฎีกาพิเชฎฐ์ วัดเจดีย์หลวง

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๐

  • พระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ วัดสวนดอก
  • พระครูสุคันธศีล วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม
  • พระครูวิเชียรปัญญา วัดดาวดึงษ์
  • พระครูวินัยธรจำรัส วัดบุพพาราม
  • พระปลัดสมพงษ์ สมจิตฺโต วัดเชียงมั่น
  • พระครูศรีบรมธาตุบริหาร วัดพระธาตุศรีจอมทอง
  • พระครูสุวรรณธรรมรังษี วัดพระธาตุศรีจอมทอง
  • พระครูประดิษฐ์พัฒนคุณ วัดแท่นคำ
  • พระครูสุนทรธรรมานุโยค วัดโขงขาว

พระสงฆ์ที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง ๓ วัน และในวันพิธีพุทธาภิเษก กองทัพอากาศได้ถวายตาลปัตรและย่ามทุกองค์ ตาลปัตรเป็นรูปพระมหาสถูปเจดีย์ ดังนั้นการนิมนต์พระมาจากวัดต่าง ๆ ให้ได้ขึ้นมาถึงดอยอินทนนท์ และได้รับการถวายตาลปัตร จึงเป็นทางหนึ่งที่พระคุณเจ้าทั้งหลายจะได้ใช้ตาลปัตรไปงานเจริญพระพุทธมนต์ในที่ใดก็จะเป็นการเผยแพร่พระมหาสถูปเจดีย์ดอยอินทนนท์

วันอาทิตย์ ที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๐ เป็นวันพุทธาภิเษก วันนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ปีเถาะ พระจันทร์จะเต็มดวง และตามปูม เป็นวันมหาสิทธิโชค ตามเวลาฤกษ์จุดเทียนชัย คือเวลา ๑๕.๔๙ - ๑๖.๓๐ น. เป็นมหัทธโนฤกษ์

เนื่องจากพิธีพุทธาภิเษกกระทำบนพระมหาสถูปเจดีย์ กองทัพอากาศจึงได้จัดเครื่องบินสำหรับรับส่งข้าราชการและครอบครัว ตลอดจนท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างพระมหาสถูปเจดีย์และพระพุทธรูปจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน ๒ เครื่อง ประมาณ ๒๐๐ คน และจัดพาหนะรับจากสนามบินเชียงใหม่ เดินทางไปยังดอยอินทนนท์ อีกไม่ต่ำกว่า ๓๐ คัน รวมทั้งบริการอาหาร เครื่องดื่ม ทั้งบน ศคร.ดน. และที่สนามบินเชียงใหม่

การเดินทางด้วยเครื่องบินในวันนั้น มีเครื่องบิน บ.ล.๘ (C-๑๐๓H) ขัดข้อง ต้องกลับมาลงสนามบินดอนเมือง หลังจากเครื่องบินวิ่งขึ้นไปได้ แต่ก็สามารถเปลี่ยนเครื่องบินเป็น บ.ล.๑๐(DC-๘-๖๒) ไปได้โดยสะดวก ในเรื่องนี้ท่านผู้รู้เล่าขานในอานุภาพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาช่วยปัดเป่าภยันตรายครั้งนั้นอย่างน่าฟังและน่าศึกษามาก

พิธีพุทธาภิเษก เริ่มเวลา ๑๕.๔๐ น. โดยพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธี

พระสงฆ์ที่นิมนต์มาในพิธีพุทธาภิเษกวันนั้น มีดังนี้

พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์

  • สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
  • พระเทพสารเวที วัดเจดีย์หลวง ช.ม.
  • พระเทพกวี วัดป่าดาราภิรมย์ ช.ม.
  • พระราชสิทธาจารย์ วัดพระสิงห์ ช.ม.
  • พระอุดมสังวรเถร วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี
  • พระอรรถกิจโกศล วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
  • พระครูวิสุตธรรมรส วัดดอนเมือง กทม.
  • พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล วัดเมืองบาง ช.ม.
  • พระครูวิมลคณาภรณ์ วัดโรงธรรมสามัคคี ช.ม.

พระเกจิอาจารย์นั่งบริกรรมภาวนา (นั่งปรก)

  • สมเด็จพระญาณสังวร
  • พระอุดมสังวรเถร (หลวงพ่ออุตตมะ)
  • พระครูวิสุตธรรมรส
  • พระครูปลัดสัมพิพัฑฒญาณาจารย์ (อาจารย์ไพบูลย์) วัดรัตนวนาราม พะเยา
  • พระครูวรวุฒิคุณ วัดฟ้าหลั่ง ช.ม.
  • พระครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระบาทห้วยต้ม ลำพูน
  • พระครูการุญญธรรมนิวาส (อาจารย์หลวง) วัดสำราญนิวาส ลำปาง
  • พระอาจารย์แว่น ธมฺมปาโล วัดถ้ำพระสภอ ลำปาง
  • พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญิกาวาส ช.ม.

นอกจากนี้ยังมีพระสวดพุทธาภิเษกอีก ๕ รูป สวดพุทธาภิเษกตลอดพิธี โดยพระครูประจักษ์พัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง เป็นองค์รับผิดชอบ สวดตามแบบภาคเหนือ

การประกอบพิธีพุทธาภิเษก ได้ประกอบพิธีไปตามขั้นตอนครบถ้วนทุกประการ มีเหตุการณ์อันควรบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วยว่า วันนี้ในตอนเช้าท้องฟ้าอากาศแจ่มใส ตอนใกล้เที่ยงมีเมฆฝนเข้ามา และค่อย ๆ ผ่านไป เมฆมีกระจายทั่ว ๆ ไปในท้องฟ้า แต่ก็ไม่มีฝนตก แม้จะทำท่าว่าจะตกอยู่บ้าง วันนั้นเป็นวันสำคัญที่สุดของพิธี ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิธีได้ปฏิบัติบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเวลา ๑๑.๐๐ น. เช่นเคย และในตอนบ่าย เวลา ๑๕.๐๐ น. ก็ได้มีสภาพอากาศที่ปรากฏแก่สายตาของทุกคนที่มาร่วมพิธีที่ได้สังเกต เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. นั้นเมฆที่ลอยต่ำรอบพระมหาสถูปเจดีย์เริ่มลอยช้าลง และพัดเป็นทักษิณาวัฎ เป็นวงรอบพระมหาสถูปเจดีย์ในเบื้องสูงยอดดอยที่ตั้งพระมหาสถูปเจดีย์โปร่งโดยรอบขึ้นไป ไม่มีเมฆเป็นช่องสว่างขึ้นไป เมฆที่ผ่านมาถึงบริเวณนี้จะพัดอ้อมไป โดยเฉพาะบริเวณใกล้องค์พระมหาสถูปเจดีย์ ในปริมณฑล ๑๐๐ - ๑๕๐ เมตร โดยรอบ ทุกสิ่งทุกอย่างสงบนิ่ง ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. ไปจนเสร็จพิธี เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. เมื่อไม่มีลมเลย อากาศจึงไม่หนาวอย่างที่เคยหนาวมาก่อนแล้วทุก ๆ วัน อุณหภูมิของอากาศขณะนั้นคงจะราว ๆ ๒๐ - ๒๕ องศาเซลเซียส เพราะสามารถสวมเสื้อแขนสั้นตัวเพียงตัวเดียวโดยมิต้องมีเสื้อหนาวสวมทับอีกชั้นหนึ่ง ก็อยู่ได้อย่างสบาย ลมไม่พัดเลย ธรรมชาติสงบนิ่งเป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง สภาวะเช่นนั้นย่อมจะไม่เคยมีหรือบังเกิดขึ้นมาก่อนแน่นอน ณ ที่ นั้นนับร้อย ๆ ปี ทุกคนเชื่อว่าปวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้มาประชุมอนุโมทนา และบันดาลให้บังเกิดสภาวะเช่นนั้น อันเป็นนิมิตแห่งความสวัสดีและเป็นมหามงคลด้วยอำนาจและบารมีแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ผู้ที่ได้ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกในวันนั้นประจักษ์แก่ตาฅนเอง ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้

สนเด็จพระญาณสังวร พระเถระ และพระสงฆ์ประกอบศาสนพิธีเสร็จแล้ว เริ่มออกจากห้องโถงพระมหาสถูปเจดีย์เป็นคณะแรก ผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้เจ้าร่วมพิธีอื่น ๆ ต่างทยอยกันกลับ เพื่อเดินทางต่อไปขึ้นเครื่องบินกลับดอนเมือง ทุกคนต่างปลื้มปีติและอิ่มในบุญกิริยาที่แต่ละคนได้มีโอกาสมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งจะประดิษฐานอยู่บนดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดเป็นอมตะ นับภพ นับชาติ จะไม่มีสิ้นสุด หากจะได้เกิดมาใหม่เมื่อใดก็คงจะพบ “พระพุทธบรมศาสดา” ณ ที่ขุนเขาแห่งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเดินทางกลับลงมาเป็นคณะสุดท้าย เมื่อพระจันทร์วันขั้น ๑๔ ค่ำ ส่องสว่างเหนือดอยอินทนนท์ และเส้นทางถนนอินทนนท์-จอมทอง จะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน

ในวันรุ่งขึ้นวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๐ พลอากาศโท เกริกชัย หาญสงคราม นาวาอากาศเอก ประกลป์ วิจิตรานุช และนาวาอากาศเอก อนุธวัช บุณยสิงห์ ได้อำนวยการและควบคุมการลำเลียงส่งพระพุทธรูปจำลอง ๙๙๙ องค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์ผงบรรจุไห จำนวนหนึ่งขึ้นบรรจุไว้ในชั้นตามแผนแบบ ชั้นที่ ๕ และชั้นที่ ๖ ตามที่กำหนดจำนวนไว้โดยครบถ้วนและเรียบร้อย แล้วรอที่จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๐ ต่อไป ขอพุทธานุภาพแห่งองค์ “พระพุทธพระบรมศาสดา” และอานิสงส์ในการนี้จงสำเร็จ และสัมฤทธิ์ใน “พระธรรมิกมหาราช” รัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ จงทุกประการ

สดุดีบูชาพระมหาธาตุนภเมทนีดล

พระมหาธาตุเจ้า เจดีย์
พุทธโคดมรุจี จิ่มฟ้า
สร้อยนภเมทนี ดลเด่น ดอยแฮ
นามนวมินทร์ปิ่นหล้า เลิศไท้พระราชทาน
ศาสนสถานเทิดให้ ธรณินทร์
กองทัพอากาศผิน พักตร์พร้อม
รวมทรัพย์ร่วมสร้างจินต์ เจตน์เจิด เจ้านา
เนื่องหกสิบพระพรรษน้อม นอบเกล้าเฝ้าถวาย
พรายพร่างพระธาตุโอ้ อัศจรรย์
อานุภาพไพพรรณ แผ่กว้าง
มิ่งมงคลดลสรรพ์ สวัสดิ์สู่ สกลเทอญ
สถิตเสถียรเด่นคว้าง คู่แคว้นแดนสยาม

น.อ.ทองสุก จทัชบุตร ร้อยกรองถวายเป็นพุทธบูชา


ปกิณกะ

การก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ ดอยอินทนนท์ ของกองทัพอากาศในครั้งนี้ กองทัพอากาศเห็นเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวกองทัพอากาศจะได้ร่วมพลังสามัคคีไว้เป็นอนุสรณ์โอกาสกองทัพอากาศ ครบ ๗๒ ปี โดยช่วยกันบริจาคทรัพย์สร้าง แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ซึ่งมาประจวบพร้อมกันพอดีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ก็จะเป็นบุญและมหากุศลอันยิ่งใหญ่ เมื่อเห็นเป็นดังนี้จึงทำให้ขอบเขตของการประชาสัมพันธ์ และการหารายได้เพื่อนำทุนทรัพย์มาก่อสร้าง จึงมีรูปลักษณะจำกัดอยู่ในอยู่ในแวดวงของชาวกองทัพอากาศเท่านั้น ในระยะแรก ๆ ของการก่อสร้างจึงมีผู้ทราบเรื่องนี้น้อย และค่อย ๆ ขยายวงออกไปตามลำดับเวลาและเหตุการณ์

ในขั้นแรกเมื่อเริ่มจะก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ กองทัพอากาศได้ดำริว่าคงจะไม่เกินวงเงิน ๑๕ ล้านบาท แต่ครั้นเมื่อเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ ออกแบบและศึกษาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ แล้ว แนวความคิดและการจัดดำเนินการได้พัฒนาขยายกว้างออกไป ทั้งในเรื่องขนาดขององค์พระมหาสถูปเจดีย์วัตถุที่จะนำมาใช้ตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดหา และจัดทำให้งดงามสำเร็จสมตามวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างยิ่ง ๆ ขึ้นไป การเพิ่มรายการความต้องการในระยะหลังที่การก่อสร้างได้ดำเนินไปได้ ๕๐% แล้ว หรือประมาณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ เมื่อพลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้นได้พบกับ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ประธานกรรมการอำนวยการก่อสร้าง มักจะพูดเชิงล้อว่า จะมีอะไรเพิ่มเติมอยู่เสมอ ๆ ในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์นี้ นอกจากงานอันสำคัญคือการดำเนินการก่อสร้างแล้ว จำเป็นจะต้องดำเนินการในเรื่อง การประชาสัมพันธ์ ให้ข้าราชการและลูกจ้างกองทัพอากาศทราบ เพื่อร่วมบริจาคทรัพย์สร้าง และรวมทั้งจะต้องดำเนินการในเรื่อง การหารายได้ มาทำการก่อสร้างพร้อมกันไปด้วย


การประชาสัมพันธ์

กองทัพอากาศ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ขึ้น โดยมี พลอากาศโท พิศิษฐ์ ศรีกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายกำลังพล ในขณะนั้น เป็นประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้ศึกษาพิจารณากำหนดแนวทาง ขอบเขต กลุ่มเป้าหมายและสื่อที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์อย่างละเอียดรอบคอบ และรัดกุม ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารอากาศทุกประการ คือสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น และสนับสนุนการก่อสร้างด้วยการบริจาคทรัพย์ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาอันบริสุทธิ์ เพื่อเป็นนิมิตหมายของความสามัคคี ในโอกาสที่กองทัพอากาศ ครบ ๗๒ ปี แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์จอมทัพไทย วโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ

ลักษณะการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้ดำเนินการสรุปไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้

  • เชิญหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงกองทัพอากาศหรือผู้แทน และนายทหารประชาสัมพันธ์หน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศ มาประชุมชี้แจงเรื่องการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ของกองทัพอากาศและนโยบายของผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • จัดให้ พลอากาศตรี สมมต สุนทรเวช เลขานุการกองทัพอากาศ และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการกองทัพอากาศ ออกไปบรรยายชี้แจงการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ตามส่วนราชการต่าง ๆ หลายหน่วย เช่น วิทยาลัยกองทัพอากาศ กรมช่างอากาศ ศูนย์ซ่อมอากาศยานดอนเมือง กองบิน ๒ กองบิน ๑ ฯลฯ
  • เผยแพร่ ข่าวสารและบทความทางวิทยุกระจายเสียงในเครือข่ายของกองทัพอากาศ หนังสือพิมพ์สารชาวฟ้ารายสัปดาห์ และหนังสือข่าวทหารอากาศ (รายเดือน)
  • นำผู้แทนส่วนราชการในกองทัพอากาศ และสมาชิกสโมสรทหารอากาศ ดอนเมือง ไปชมพระมหาสถูปเจดีย์ดอยอินทนนท์ เพื่อสร้างศรัทธาและเป็นความรู้
  • นำผู้แทนสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไปเยี่ยมชมพระมหาสถูปเจดีย์ ดอยอินทนนท์
  • จัดให้มีการประกวดแต่งเพลงส่งเสริมการสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการและลูกจ้างตลอดจนประชาชนให้บังเกิดความสนใจในโครงการเฉลิมพระเกียรติสร้างพระมหาสถูปเจดีย์

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบและผสมผสานไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ตามโอกาสที่ ทอ. ได้จัดมีขึ้นนับตั้งแต่เริ่มโครงการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์จนเสร็จเรียบร้อย การประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเข้าสู่ข้าราชการลูกจ้างกองทัพอากาศในครอบครัวเป็นสำคัญ ทำให้งานโครงการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ได้รับการสนับสนุน และรับเงินบริจาคเป็นจำนวนมากจากข้าราชการและลูกจ้างทุกระดับ ทุกคน อย่างน่าปลาบปลื้มเป็นที่สุด


การหารายได้

ในการหารายได้ กองทัพอากาศได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการฝ่ายหารายได้ งานก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ขึ้นโดยมี พลอากาศโท วีระ กิจจาทร ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายการข่าว ในขณะนั้น เป็นประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้รับนโยบายจากผู้บัญชาการทหารอากาศ ในการหารายได้ภายในกองทัพอากาศในขอบเขตที่จะไม่ให้มีการเรี่ยไรหรือบังคับให้บริจาคงาน โครงการนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนในกองทัพอากาศได้ทำบุญใหญ่ตามกำลังทรัพย์และตามกำลังศรัทธาอันบริสุทธิ์ ไม่มีลักษณะแข่งขันกันทำบุญหรือมีลักษณะเชิงพาณิชย์ ทั้งไม่ให้มีการกล่าวอ้างถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรโดยเด็ดขาด

การหารายได้ภายในกองทัพอากาศ จึงมีขอบเขตที่จำกัด กลุ่มบุคคลที่จะบริจาคทรัพย์ทำบุญเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งพระมหาสถูปเจดีย์มีขนาดใหญ่โต ต้องใช้เงินในการก่อสร้างมาก คณะอนุกรรมการฝ่ายหารายได้จึงเพียรพยายามหาหนทางที่จะให้ได้รับการบริจาคมากที่สุด และนับว่าการหารายได้ งานสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรลุผลสำเร็จ มียอดเงินได้รับบริจาคประมาณ ๒๘ ล้านบาท และจากการจัดกิจกรรม ๒ ล้านบาทเศษ

ในขั้นต้นคณะอนุกรรมการฝ่ายหารายได้ ได้จัดทำแผ่นโฆษณา (Poster) ติดตามส่วนราชการต่าง ๆ ภายในกองทัพอากาศ ๕,๐๐๐ แผ่น หน่วยต่าง ๆ ทั้งระดับกรม ระดับกองลง ไปถึงหน่วยขนาดเล็ก ต่างตั้งตู้รับบริจาคเงินข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และชั้นผู้น้อย ตลอดจนลูกจ้างแสดงความจำนงให้หักเงินเดือนเป็นรายเดือน เดือนละจำนวนหนึ่งในระยะเวลาที่มีเจตนาจะบริจาค บางคนสร้างพระพุทธรูป บางคนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แข่งรถการกุศล แข่งโบว์ลิ่งการกุศล จัดมวยการกุศล หรือออกบัตรสลากรางวัล ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยหารายได้มาสมทบทุนก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ทั้งสิ้นต่อมาในระยะหลัง ๆ ท่านนายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกราชการทราบความ ก็ส่งเงินมาขอร่วมทำบุญน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลมากราย นับได้ว่าแรงศรัทธาที่บังเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นในชาวกองทัพอากาศแต่ละท่านแต่ละคนเองทั้งสิ้น มิได้มีใครบังคับหรือกะเกณฑ์ เป็นนิมิตของความสามัคคี ในวโรกาสที่องค์จอมทัพไทยเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ ในปีที่กองทัพอากาศ ครบ ๗๒ ปีอย่างดีที่สุด


การก่อสร้างอื่น ๆ

ในการก่อสร้างพระมหาธาตุนภเมทนีดลนี้ นอกจากถนนและลานจอดรถแล้ว มีสิ่งก่อสร้างสำคัญที่จะต้องทำการก่อสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในการนี้ ๒ อย่าง คือ

  • ศาลาที่ประทับ กองทัพอากาศมีแนวความคิดในระหว่างการก่อสร้างว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระมหาธาตุนภเมทนีดลบนดอยอินทนนท์ จะต้องเสด็จพระราชดำเนินเป็นระยะทางไกลจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่หรือหากจะเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพมหานคร ก็ยิ่งจะไกลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรจะได้มีสถานที่สำหรับทรงพักผ่อนพระอิริยาบถไว้ด้วยหากจำเป็น จึงได้มอบหมายให้สถาปนิกออกแบบและได้ว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยพิทักษ์ทำการก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อย เมื่อ ตุลาคม ๒๕๓๐ (๑.๒ ล้านบาทเศษ)
  • สะพาน ก่อนที่จะลงมือก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ในปลายปี ๒๕๒๙ นั้น กองทัพอากาศได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ตัดเนินและกรุยทางขึ้นบริเวณก่อสร้าง และสร้างสะพานที่จะแยกจากถนนจอมทอง-อินทนนท์ ข้ามช่องเขาให้ติดต่อขึ้นไปสู่ลานจอดรถได้
  • สวนหย่อม บนพื้นที่ยอดดอยที่ก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์นั้นมีพื้นที่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นลานกว้างประมาณ ๒,๕๐๐ ตร.เมตร กองทัพอากาศได้ให้สถาปนิกพิจารณาออกแบบจัดเป็นสวนหย่อมขึ้น เพื่อหาพันธุ์ไม้ยืมต้นและไม้ดอกบนดอยอินทนนท์มาจัดสวนให้สวยงาม เมื่อสถาปนิกได้ออกแบบการจัดสวนและงานภูมิสถาปัตย์ โดยรอบ ทั้งส่วนบนรอบองค์พระมหาสถูปเจดีย์, บริเวณลานจอดรถ และศาลาที่ประทัพแล้ว กองทัพอากาศได้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างดำเนินการต่อไป

    ในบริเวณสวนหย่อมนั้น ได้เตรียมที่สำหรับขอพระราชทานอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกต้นกุหลาบพันปี สีแดง (ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่) ไว้เป็นที่ระลึกในการเสร็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระมหาธาตุนภเมทนีดลไว้ด้วย สวนหย่อมแห่งนี้ เมื่อพันธุ์ไม้ที่ปลูกมีความสมบรูณ์เต็มที่เมื่อใด จะทำให้บรรยากาศบริเวณพระมหาธาตุองค์นี้งดงาม น่าชมยิ่ง และยังสามารถที่จะตกต่างให้มีความหมายได้อีกต่อไปด้วย

  • การสนับสนุนจาก การบินไทย-เดินอากาศไทย กองทัพอากาศได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด และ บริษัท การบินไทย จำกัด เป็นอันมาก บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ออกบัตรโดยสารไม่คิดเงินค่าโดยสารให้คณะกรรมการอำนวยการก่อสร้าง และคณะอนุกรรมการผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องเดินทางเป็นประจำสัปดาห์ ระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เพื่อตรวจงานและดำเนินการต่าง ๆ ที่ดอยอินทนนท์ สำหรับ บริษัท การบินไทย จำกัด ได้ให้เครื่องบินของบริษัทลำเลียงขนส่งกระเบื้องโมเสกแก้วทั้งหมดจากอิตาลีมายังกรุงเทพฯ และลำเลียงกาวพิเศษชนิดต่าง ๆ จากลอนดอนมากรุงเทพฯ โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด

    กองทัพอากาศขอขอบพระคุณ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด และ บริษัท การบินไทย จำกัด ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย