พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล

องค์เจดีย์มีรูปทรงที่ละม้ายคล้ายคลึงกับองค์พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล มีรูปทรงสัณฐานเป็นรูป ๑๒ เหลี่ยม มีระเบียงกว้างโดยรอบเป็น ๒ ระดับ สำหรับให้พุทธศาสนิกชนและผู้มาเยี่ยมชมได้กระทำทักษิณาวัฏบูชา และเดินชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ องค์พระมหาธาตุเจดีย์มีความกว้างที่ระดับระเบียงชั้นล่าง ๓๗ เมตร สูง ๕๕ เมตร ซึ่งต่ำกว่าพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล ๕ เมตร เพื่อแสดงความหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงอ่อนพระชันษากว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๕ พรรษา

ที่ยอดปลีขององค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุพระธาตุหริภุญชัยจำลอง โดยแยกบรรจุเป็น ๔ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้ ส่วนที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานให้ ส่วนที่รัฐบาลศรีลังกามอบให้ และส่วนที่ผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้มีจิตศรัทธาร่วมอนุโมทนา


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระพุทธรูปสำคัญนี้ว่า พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล มีความหมายว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคล และทรงพระเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

ภายในโถงเจดีย์ขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ตกแต่งด้วยภาพพระราชกรณียกิจแกะสลักด้วยหินแกรนิตประดับไว้ที่ผนังตอนล่าง ส่วนผนังตอนบนประดับด้วยภาพพุทธประวัติทำด้วยโมเสกแก้ว ซึ่งจัดภาพและสีด้วยคอมพิวเตอร์สั่งทำจากประเทศอิตาลี และที่กลางโถงเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นพระประจำพระชนมวาร ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ จำหลักด้วยหินหยกขาวบริสุทธิ์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสูงเฉพาะองค์พระ ๓ เมตร ๒๐ เซนติเมตร หนักประมาณ ๕ ตัน นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ และงามที่สุดองค์หนึ่ง

การดำเนินการก่อสร้างใช้เวลา ๙๐๐ วัน สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๕ ล้านบาท เป็นเงินที่รัฐบาลสนับสนุนให้ ๔๘ ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน ๘๗ ล้านบาท ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้เป็นทุนแรกเริ่มสำหรับการดำเนินการ ซึ่งยังความปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณและเป็นกำลังใจแก่ผู้เกี่ยวข้องเป็นล้นพ้น

กองทัพอากาศได้ประกอบพิธีน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๖ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระราชจริยาวัตรของล้นเกล้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์ ที่ทรงชื่นชมโสมนัส ตลอดเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการตกแต่ง ทั้งภายในและภายนอกองค์พระมหาธาตุเจดีย์เป็นที่ประทับใจและยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ตามเสด็จทุกคน และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของทหารอากาศ ที่ได้ร่วมใจกันสร้างปูชนียสถานสำคัญไว้บนยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความเทิดทูนและจงรักภักดีที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อย่างหาที่เปรียบมิได้

ขออานุภาพแห่งพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ จงคุ้มครองและดลบันดาลให้ประเทศไทยร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง มั่นคงและไพบูลย์ ขอพระราชกุศลที่ กองทัพอากาศ และพสกนิกรชาวไทย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายนี้ จงสัมฤทธิผลเพิ่มพูนให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญด้วยพระพลานามัย ผองภัยพิบัติมิอาจกล้ำกรายพระบรมเดชานุภาพแผ่ขยายไปทั่วหล้า ขอพระบารมีคุ้มเกล้าเหล่าพสกนิกรชั่วนิรันดร์


พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ มีรูปทรงสัณฐานที่ละม้ายคล้ายกันกับพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล ซึ่งกองทัพอากาศสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ จะมีส่วนที่ต่างกันที่รูปลักษณ์ขององค์เจดีย์ และองค์ประกอบที่เป็นส่วนตกแต่งที่แสดงความหมายแตกต่างกันไป กล่าวคือ รูปลักษณ์ขององค์พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล แสดงความหมายถึงการบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนการตกแต่งแสดงถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพุทธประวัติโดยย่อ สีสันและวัสดุที่ใช้ประดับทั้งภายในและภายนอกองค์เจดีย์มีลักษณะที่แสดงถึงความหนักแน่น มั่นคง และสง่างามอย่างนักรบ ส่วนรูปลักษณะของพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิรินั้น แสดงความหมายถึงองค์ประกอบที่ส่งเสริมให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาโพธิญาณ ส่วนการตกแต่งแสดงถึงบทบาทของสตรีที่มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลก สีสันและวัสดุที่ใช้ประดับทั้งภายในและภายนอกองค์เจดีย์มีลักษณะที่แสดงถึงความอ่อนช้อยงดงามตามลักษณะความงามของสตรีไทย


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเมตตาค้นคว้าประทานหัวข้อธรรมะสำหรับการออกแบบ
แนวคิดในการออกแบบ

ในการออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ คณะผู้ออกแบบซึ่งเป็นคณะเดียวกันกับคณะผู้ออกแบบพระมหาธาตุนภเมทนีดล ประกอบด้วย อาจารย์ไขศรี ตันศิริ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านงานสถาปัตยกรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะ นายสันติ ชยสมบัติ เป็นสถาปนิก และนายกัญจนจักก์ สถาปนสุต เป็นวิศวกร ได้กำหนดแนวความคิดในการออกแบบไว้ ๒ ประการ

ประการแรกให้มีรูปทรงที่มีความละม้ายกับพระมหาธาตุนภเมทนีดล ซึ่งต่างไปจากรูปแบบของศิลปะล้านนาในอดีต เพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรมใหม่ บนที่ที่สูงที่สุดของประเทศไทย การออกแบบรูปทรงเน้นการใช้เส้นตรงตัดกันเป็นรูปเหลี่ยมแสดงความหนักแน่น มั่นคง

ประการที่ ๒ การตกแต่งทั้งภายในและภายนอกองค์เจดีย์ ตลอดจนองค์ประกอบของเจดีย์ ให้แสดงความหมายถึงการยกย่อง เทิดทูนสตรีที่มีส่วนส่งเสริมให้พระพุทธศาสนา ได้อุบัติขึ้นในโลก

เมื่อได้กำหนดแนวความคิดในขั้นต้นไว้ดังนี้แล้ว คณะผู้ออกแบบจึงได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อขอให้ทรงวินิจฉัย ซึ่งได้ทรงเห็นชอบ และได้ทรงเมตตาค้นคว้าประทานหัวข้อธรรมะสำหรับการออกแบบ รูปลักษณ์ขององค์เจดีย์ให้ได้ความหมายตามแนวความคิดดังกล่าว ๒ หัวข้อ ได้แก่

  • ๑. โพธิปักขิยธรรม หรือธรรมอันเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งโพธิญาณ ๓๗ ประการ
  • ๒. อัจฉริยธรรม ๑๒ ประการ หรือความมหัศจรรย์ ๑๒ ประการ อันเกิดแก่พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา อันเป็นผลแห่งการบำเพ็ญทานและทรงตั้งปณิธาน ปรารถนาเป็นพุทธมารดาในอดีตชาติ



ภาพแบบรูปทรงขององค์เจดีย์พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
รูปทรงขององค์เจดีย์

จากแนวความคิดดังกล่าว คณะผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบให้ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ มีรูปทรงเป็นรูป ๑๒ เหลี่ยม แสดงความหมายถึง อัจฉริยธรรม ๑๒ ประการ มีระเบียงกว้างโดยรอบเป็น ๒ ระดับ สำหรับให้พุทธศาสนิกชนและผู้มาเยี่ยมชมใช้ทำทักษิณาวัฏบูชา หรือเดินชมทัศนียภาพได้โดยรอบ มีความกว้างที่ระดับระเบียงล่าง ๓๗ เมตร แสดงความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่ขอบระเบียงแต่ละระดับ มีซุ้มรูปกลีบบัวประดับอยู่ ๖ ซุ้ม ที่ส่วนยอดขององค์เจดีย์เป็นยอดปลีล้อมด้วยกลีบดอกบัวตูม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กั้นด้วยฉัตร ๙ ชั้นทำด้วยโลหะสีเงิน ภายในเจดีย์เป็นโถง เพดานสูง มีซุ้มประตูทางเข้า ๓ ด้าน ซุ้มประตูด้านหน้าอยู่ตรงกันกับซุ้มประตูด้านหน้าของพระมหาธาตุนภเมทนีดล มีบันไดเชื่อมติดต่อกันที่ชานพักชั้นล่าง องค์พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ มีความสูงจากชานพักชั้นล่างนี้ถึงยอดปลี ๕๕ เมตร ซึ่งต่ำกว่าพระมหาธาตุนภเมทนีดล ๕ เมตร เพื่อแสดงความหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงอ่อนพระชันษากว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๕ พรรษา

สำหรับรูปลักษณ์ขององค์เจดีย์นั้น ได้ออกแบบให้แสดงความหมายถึง ธรรมะทั้ง ๓๗ ประการ อันได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ ที่ประกอบขึ้นเป็นโพธิปักขิยธรรม โดยออกแบบให้มีบัวรัดรอบองค์เจดีย์ตอนล่าง แบ่งองค์เจดีย์ส่วนนี้เป็น ๔ ชั้น เพื่อแสดงความหมายถึง สติปัฏฐาน ๔ เหนือขึ้นไปมีลักษณะเป็นชั้นเล็ก ๆ ๒๕ ชั้น แสดงความหมายถึง ธรรมะ ๒๕ ประการ ที่เป็นองค์ประกอบของการบำเพ็ญเพียรให้บรรลุถึงทางแห่งตรัสรู้ ประกอบด้วย สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ ส่วน มรรค ๘ นั้น แสดงความหมายอยู่ที่คอระฆังซึ่งออกแบบเป็นฐานรองรับ ๘ ชั้น ยอดปลีขององค์เจดีย์ล้อมด้วยกลีบดอกบัวตูม แสดงความหมายถึง การบรรลุธรรมอันจะนำไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งต่างจากยอดปลีของพระมหาธาตุนภเมทนีดล ที่ล้อมด้วยดอกบัวบาน แสดงความหมายถึงการตรัสรู้แล้ว



การก่อสร้าง

งานก่อสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ เป็นงานที่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักดีว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ต้องปฏิบัติงานบนยอดเขาสูง ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นและลมแรงจัด ในฤดูฝนจะมีเมฆหมอกหนาทึบปกคลุมอยู่ตลอดเวลา ในบางช่วงจะมีฝนตกติดต่อกันหลาย ๆ วัน จะมีเวลาที่อากาศแจ่มใสได้รับแสงแดดเพียงช่วงสั้น ๆ ทำให้ชื้นแฉะและหนาวเย็นอยู่ตลอดทั้งวัน ทั้งเจ้าหน้าที่และช่างที่ทำงานนี้ จึงต้องมีความอดทนและมีความศรัทธาแก่กล้าจึงสามารถทนอยู่ได้ ช่างฝีมือหลายคนทิ้งงาน เพราะไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศและความหวาดเสียวเมื่อต้องขึ้นไปทำงานบนนั่งร้านสูง ๆ ในขณะลมแรงจัดได้ ถึงแม้จะได้สร้างที่กำบังลมและฝนรอบองค์เจดีย์ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นและลดอันตรายจากกระแสลมให้แล้วก็ตาม ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือขึ้น แรงงานที่เป็นหลักจึงเป็นชาวเขาที่อยู่ในละแวกนั้น ซึ่งมีความอดทนและมีความตั้งใจในการทำงานสูง เมื่อทราบว่าเป็นงานที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทำให้งานก่อสร้างสำเร็จด้วยความเรียบร้อย

การก่อสร้างเริ่มจากการปรับพื้นที่ก่อสร้างซึ่งเป็นเนินเขาอยู่ด้านหลังพลับพลาที่ประทับหลังเดิม ห่างจากพระมหาธาตุนภเมทนีดล ไปทางทิศเหนือประมาณ ๗๕ เมตร ที่พิกัดเส้นรุ้ง ๑๘ องศา ๓๓ ลิบดา ๓๓ ฟิลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๙๘ องศา ๒๘ ลิบดา ๕๑ ฟิลิบดาตะวันออก มีลักษณะเป็นเนินเขาหัวโล้น ๒ เนินติดกัน เนินด้านหน้ามีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๐๐ ตารางเมตร กำหนดจะใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างองค์เจดีย์ ส่วนเนินด้านหลังซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๔,๘๐๐ ตารางเมตรนั้นจะทำเป็นสวนหย่อมให้ผู้ที่มาสักการะและเยี่ยมชมใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ งานปรับพื้นที่นี้ กองทัพอากาศได้มอบหมายให้กรมช่างโยธาทหารอากาศ เป็นผู้ดำเนินการโดยมี นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง ผู้อำนวยการกองสนามบินเป็นผู้รับผิดชอบและมีเจ้าหน้าที่ชุดทำงาน ๙ นาย ประกอบด้วย

  • นาวาอากาศตรี สวัสดิ์ มีมั่ง
  • จ่าอากาศเอก ชูชาติ มณีสถิตย์
  • นาย ชลอ ไกรถาวร
  • นาย สมจิตต์ สวนะปรีดี
  • นาย อั๋น หมื่นจำเริญ
  • นาย เสนาะ นกแก้ว
  • นาย พยนต์ แสงสีนิล
  • นาย บรรพต พลสะอาดรักษ์
  • นาย สมชาย เข็มทอง

ในการปรับพื้นที่นี้ได้ตัดยอดเนินลงไปประมาณ ๑๕ เมตร เพื่อให้ระดับฐานของเจดีย์องค์ใหม่อยู่ในระดับเดียวกับฐานของเจดีย์องค์เดิม และดันดินที่ต้องตักออกทั้งหมดประมาณ ๓๖,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ออกไปถมไหล่เขาด้านทิศตะวันตก ลักษณะของดินที่ตักออกนี้ เป็นดินทรายซึ่งจะพังทลายได้ง่ายจากการกัดเซาะของน้ำในฤดูฝน จึงได้ขุดทางระบายน้ำขนาดใหญ่ไว้รอบพื้นที่ บังคับให้น้ำฝนที่ตกบนลานไหลไปลงทางน้ำธรรมชาติ ไม่ให้ไหลมากัดเซาะดินที่มาถมไว้ตามไหล่เขา เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการพังทลายของดิน แต่เมื่อถึงฤดูฝนปรากฏว่าได้มีการทลายของดินมากเกินกว่าที่คาดคิด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นดินทราย การยึดเหนี่ยวของดินมีน้อย เมื่อฝนตกน้ำฝนที่ชุ่มอยู่ในดิน จะทำให้ดินมีน้ำหนักมากขึ้น และจะเลื่อนหลุดไปเป็นแผ่น ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชันมาก ทำให้ดินบริเวณนี้เป็นร่องเป็นชั้น ไม่สวยงามและบางแห่งดูน่ากลัว ดังนั้นเมื่อสิ้นฤดูฝน กรมช่างโยธาทหารอากาศ จึงได้ส่งชุดทำงานขึ้นไปปรับแต่งพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ให้มีความลาดมากขึ้นโดยมี นาวาอากาศตรี สวัสดิ์ มีมั่ง เป็นผู้รับผิดชอบ



แบบแปลนภาพมุมสูง พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
การเจาะสำรวจ

ถึงแม้ว่าพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์องค์ใหม่จะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับพระมหาธาตุเจดีย์องค์เดิม แต่ทั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ และคณะผู้ออกแบบ ก็มีความเห็นตรงกันว่า สมควรจะได้มีการเจาะสำรวจดินและทดสอบคุณสมบัติของดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการออกแบบฐานรากของเจดีย์ พบดินชั้นหินทรายที่มีความลึกตื้น ๆ เพียง ๒.๑ ถึง ๖.๗ เมตร เท่านั้น คณะผู้ออกแบบ พิจารณาเห็นว่าชั้นหินที่สำรวจพบอยู่ที่ความลึกต่างกันค่อนข้างมาก และค่าน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยของฐานแผ่ สำหรับดินทรายบริเวณที่ก่อสร้างองค์พระมหาธาตุเจดีย์มีค่าไม่เกิน ๒๐ ตันต่อตารางเมตร จึงได้ตกลงใจออกแบบฐานรากเป็นแบบใช้เสาเข็มรับน้ำหนัก โดยให้ปลายเสาเข็มอยู่บนชั้นหินหรือชั้นทรายแน่น และเนื่องจากชั้นหินอยู่ที่ความลึกต่างกันมาก ถ้าจะใช้เสาเข็มตอกจะไม่สามารถกำหนดความยาวได้แน่นอนและจะมีปัญหายุ่งยากในการขนส่ง จึงเลือกใช้เข็มเจาะแทน

ในขณะนั้น คณะสำรวจและพิจารณาเลือกจากพื้นที่ที่ได้มีการพิจารณาหมายตาจุดที่จะเลือกไว้ก่อนแล้วว่า น่าจะเหมาะสมทั้งในด้านภูมิทัศน์ขององค์พระสถูปเจดีย์เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ภูมิประเทศที่ตั้งสะดวกแก่การสัญจรของพุทธศาสนิกชนที่จะมาสักการะบูชา จากถนนสายจอมทอง-อินทนนท์

คณะสำรวจชุดนั้น ได้พิจารณาเลือกพื้นที่ ๒ แห่ง ซึ่งอยู่บนยอดดอยเล็ก ๆ ที่ทอดยาวขนานถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ ด้านซ้ายมือประมาณกิโลเมตรที่ ๔๑ ที่แห่งแรกอยู่ทางปลายต่ำของดอย ซึ่งหากสามารถทำการก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ได้จะมีความสวยงาม เพราะจะสามารถมองเห็นองค์พระสถูปเจดีย์ได้แต่ไกลมาก ทั้งยังอยู่ติดถนนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พื้นที่ยอดดอยมีลักษณะเป็นสัน-แคบ ทำให้มีพื้นที่ที่จะก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์อย่างจำกัด จึงได้พิจารณาพื้นที่แห่งที่สองซึ่งอยู่บนแนวเดียวกัน เลยจากแห่งแรกขึ้นไปทางปลายด้านสูงและไม่ห่างจากถนนจนเกินไป พื้นที่แห่งที่สองนี้กว้างพอที่สามารถปรับไห้เป็นที่ตั้งองค์พระสถูปเจดีย์ได้ คณะสำรวจจึงได้ตกลงใจจะเลือกพื้นที่แห่งที่สองเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้าง โดยจะให้กองแผนที่และที่ดินกรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ขึ้นไปทำงานสำรวจหารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาให้แน่นอนต่อไป

ในปลายเดือนธันวาคม ๒๕๒๘ คณะสำรวจหารายละเอียด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ (กบ.ทอ.) และกรมช่างโยธาทหารอากาศ (ชย.ทอ.) คือ

  • นาวาอากาศเอก ประสาธน์ ทวีสุข (กบ.ทอ.)
  • นาวาอากาศเอก สมบัติ สุคนธ์ทอง (ชย.ทอ.)
  • นาวาอากาศโท วิสูตร ชวคริตภานุ (กบ.ทอ.)
  • นาวาอากาศตรี ธวัช ภู่โกสีย์ (ชย.ทอ.)
  • เรืออากาศเอก บุญลือ สุวรรณ (กบ.ทอ.)
  • เรืออากาศโท อภิรัฐ อุทัยวรรณ (ชย.ทอ.)
  • เรืออากาศตรี ณัฐ วิบูลย์ศิลป์ (ชย.ทอ.)
  • เรืออากาศตรี สายยันต์ มากผล (กบ.ทอ.)
  • จ่าอากาศเอก ศุกร์สม คลองน้อย (ชย.ทอ.)

ได้เดินทางไปสำรวจหาข้อมูลรายละเอียดพื้นที่ที่คณะสำรวจชุด พลอากาศโท วรนาถ ได้ตกลงใจกำหนดที่พิกัดเลือกไว้ หรือพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ เส้นรุ้ง ๑๘ องศา ๓๓ ลิบดา เส้นแวง ๙๘ องศา ๒๙ ลิบดา อ. ที่ระดับความสูง ๒๑๔๖ ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ห่างจากศูนย์ควบคุมรายงานดอยอินทนนท์ ลงมาตามถนนประมาณ ๗ กิโลเมตรหรือประมาณกิโลเมตรที่ ๔๑.๕๒๘ ของถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ ห่างจากแนวถนนด้านซ้ายมือประมาณ ๒๐๐ เมตร)

คณะสำรวจรายละเอียดพื้นที่ได้แบ่งมอบงานสำรวจออกเป็น ๒ ส่วน คือ สำรวจรายละเอียดข้อมูล เพื่อประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสำรวจรายละเอียดเพื่อการออกแบบก่อสร้าง ถนน-สะพาน- ลานจอดรถยนต์ และบริเวณก่อสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ การสำรวจต้องใช้เวลาหลายวัน คณะสำรวจต้องบุกป่า ขึ้นเขา ลงห้วยด้วยความยากลำบาก และสำเร็จเรียบร้อยได้รายละเอียดครบถ้วนในเดือนมกราคม ๒๕๒๙ (ยกเว้นบริเวณสร้างสะพานและองค์พระสถูปเจดีย์เพราะจะต้องทำการเจาะดินเพื่อออกแบบฐานรากในเรื่องนี้ต่อมาได้ทำการสำรวจเจาะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๙)

คณะสำรวจซึ่งมี พลอากาศโท วรนาถ เป็นหัวหน้าคณะ ได้ตกลงใจเลือกพื้นที่ที่ได้ข้อมูลรายละเอียดนี้สำหรับก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ ตามวัตถุประสงค์ของผู้บัญชาการทหารอากาศ ด้วยเหตุผลทั้งในด้านทัศนียภาพขององค์พระสถูปเจดีย์เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ทั้งในด้านการสัญจรของพุทธศาสนิกชนที่จะเข้าไปสักการะบูชา และที่สำคัญที่สุดในด้านการทำลายสิ่งแวดล้อม ต้นน้ำ หรือลำธารในเขตอุทยานแห่งชาติ ในที่สุด พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เห็นชอบตามที่คณะสำรวจเสนอ และให้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ดำเนินการออกแบบองค์พระสถูปเจดีย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ตลอดจนเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ต่อไป

สำหรับกรมช่างโยธาทหารอากาศเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับรายละเอียดข้อมูลแล้ว ได้เริ่มออกแบบก่อสร้าง ถนน-ลานจอดรถยนต์ พร้อมทั้งประมาณค่าก่อสร้างในส่วนนี้ และประมาณค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่บริเวณยอดดอยที่จะสร้างองค์พระสถูปเจดีย์ เสร็จในเดือนมีนาคม ๒๕๒๙



การดำเนินการก่อสร้าง

เมื่อปรับพื้นที่และทำการเจาะสำรวจคุณสมบัติของดินเรียบร้อยแล้ว คณะผู้ออกแบบและคณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ได้มาทำการกำหนดจุดที่ผังแบบแปลนทั้งตัวองค์เจดีย์และส่วนประกอบ ไปจนถึงบันได เพื่อทดสอบความพอเพียงของพื้นที่และความเหมาะสมของแบบแปลนในภูมิประเทศจริง ซึ่งปรากฏว่าการออกแบบบันไดจากชานพักชั้นล่างถึงระเบียงล่างขององค์เจดีย์ที่ออกแบบไว้เป็น ๔ ช่วง โดย ๒ ช่วงแรกจะอยู่ในแนวเดียวกับบันได ของเจดีย์องค์เดิม ช่วงที่ ๓ จะเฉียงไปทางซ้ายและที่ชานพัก ช่วงที่ ๓ นี้ ได้ออกแบบเป็นลานกว้างสำหรับพักเหนื่อยและชมทิวทัศน์ของพระมหาธาตุนภเมทนีดล ช่วงที่ ๔ จะหักกลับมาทางขวาตรงเข้าซุ้มประตูด้านหน้าขององค์เจดีย์นั้น เมื่อทดลองยืนในตำแหน่งที่จะสร้างเป็นลานชมวิวแล้วมองเกือบไม่เห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดล เนื่องจากถูกกลุ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้าองค์เจดีย์บัง จึงต้องเปลี่ยนบันไดให้อยู่ในแนวเดียวกันกับบันไดของพระมหาธาตุนภเมทนีดลโดยตลอด และย้ายลานชมวิวไปไว้ทางขวาของชานพักช่วงที่ ๓ พร้อมทั้งขยับองค์เจดีย์ตาม ให้ซุ้มประตูหน้าอยู่ตรงแนวบันได

เมื่อได้ปรับแต่งแบบเรียบร้อยแล้ว จึงได้ให้กรมโยธาทหารอากาศประมาณราคาค่าก่อสร้างในส่วนโครงสร้างและดำเนินกรรมวิธีในการจัดจ้าง ซึ่งได้บริษัท ฤทธิอุทยานนท์ จำกัด เป็นผู้รับงาน ในวงเงิน ๔๘,๓๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ แบ่งเป็น ๑๐ งวดงาน โดยมี นาวาอากาศเอก เทอดศักดิ์ สุจริตธรรม นาวาอากาศโท ชุมพร มานะต่อ เรืออากาศเอก ปรีชา หูตะจูฑะ และจ่าอากาศเอก โกศล บูลผล เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง

  • งวดงานที่ ๑ เป็นงานทำเข็มเจาะและทดสอบการรับน้ำหนักของเสาเข็ม
  • งวดงานที่ ๒ เป็นงานทำฐานและเสาตอม่อ และเสารับคานระเบียงล่าง
  • งวดงานที่ ๓ เป็นงานทำคานระเบียงล่าง พื้นระเบียงล่าง และเสารับคานระเบียงบน
  • งวดงานที่ ๔ เป็นงานทำขอบพื้นระเบียงล่าง ทำคานระเบียงบน และพื้นระเบียงบน
  • งวดงานที่ ๕ เป็นงานทำเสารับองค์เจดีย์ ทำคาน และพื้นองค์เจดีย์
  • งวดงานที่ ๖ เป็นงานทำผนังรอบองค์เจดีย์ช่วงที่ ๑ ทำซุ้มรอบระเบียงและคานรับองค์เจดีย์ช่วงที่ ๒
  • งวดงานที่ ๗ เป็นงานทำผนังรอบองค์เจดีย์ช่วงที่ ๒ และหลังคาโดม
  • งวดงานที่ ๘ เป็นงานทำคานรับองค์เจดีย์ช่วงที่ ๓ ผนังรอบองค์เจดีย์ช่วงที่ ๓
  • งวดงานที่ ๙ เป็นงานทำคานรอบ รับองค์เจดีย์ช่วงที่ ๔ ผนังรอบองค์เจดีย์ช่วงที่ ๔
  • งวดงานที่ ๑๐ เป็นงานทำส่วนยอดขององค์เจดีย์ ทำบันได และงานโครงสร้างส่วนที่เหลือทั้งหมด

เมื่องานในส่วนฐานรากเสร็จเรียบร้อยแล้ว กองทัพอากาศจึงได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้นเมื่อ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๔


พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

เมื่อการเตรียมพื้นที่และการก่อสร้างส่วนฐานรากของพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ เสร็จเรียบร้อย กองทัพอากาศจึงได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๔ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๑๙ นาที โดยมี พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธี

การประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในครั้งนี้ได้ทำตามแบบแผนประเพณีของชาวล้านนา ซึ่งท่าน พระครูประจักษ์พัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระเถระผู้รอบรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมของชาวล้านนา จนเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นเจ้าพิธีของชาวล้านนา ได้เมตตาให้คำแนะนำและจัดทำสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีให้อย่างประณีตบรรจง

พิธีเริ่มด้วยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา อันได้แก่ บรรพกษัตริย์และบรรพชนล้านนา ท่านครูบาศรีวิชัย ตลอดจนเทวาอารักษ์และเจ้าที่บนดอยอินทนนท์ เพื่อเป็นการบอกกล่าวและอัญเชิญร่วมอนุโมทนาในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ในครั้งนี้

ก่อนพิธีวางศิลาฤกษ์ ท่านพระครูประจักษ์พัฒนคุณ และพระสงฆ์รวม ๕ รูป ทำพิธีถอนสิ่งอัปมงคลออกจากพื้นที่ที่จะก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เพื่อให้พื้นที่บริเวณนี้บริสุทธิ์

เมื่อประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ แห่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศและคณะได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ มณฑลพิธีซึ่งอยู่ตรงแกนกลางขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ แท่นศิลาฤกษ์นี้อยู่ใต้โถงเจดีย์ สูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร ปิดด้วยกระจกเพื่อให้เห็นแผ่นศิลาฤกษ์ได้ชัดเจนบริเวณแท่นวางศิลาฤกษ์นี้เป็นโถงขนาดใหญ่ เหมาะที่จะดัดแปลงเป็นที่พักผ่อนของผู้มาเยี่ยมชมในฤดูฝนและฤดูหนาวในโอกาสต่อไป

หลังจากเสร็จพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง ได้เมตตาจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่บรรพชนชาวล้านนาและเทวาอารักษ์ เป็นการบอกกล่าวขอขมาหากจะมีสิ่งใดล่วงล้ำก้ำเกินในระหว่างก่อสร้างและขอให้ช่วยอภิบาลรักษาเจ้าหน้าที่คนงานตลอดจนผู้เกี่ยวข้องให้สามารถทำงาน สำเร็จลุล่วงโดยสวัสดิภาพ ปราศจากภยันตรายทั้งปวง โดยมี พลอากาศเอก สมศักดิ์
กุศลาศัย ประธานกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นประธานในพิธี และมีคณะกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และคนงานทุกคนร่วมพิธี โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๒๑ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายพระเจดีย์ทราย ๑๐๘ องค์ ซึ่งก่อไว้รอบพื้นที่ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ พร้อมทั้งถวายกระทงใส่เหล็ก หิน ปูน ทราย ทองเหลือง ทองแดง ข้าวสาร ข้าวเปลือก อันเป็นส่วนประกอบของการก่อสร้าง การประกอบพิธีนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่และคนงานก่อสร้างมีขวัญและกำลังใจ ที่จะทำงานในสภาพที่ต้องอดทนต่อสภาพบีบคั้นจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงทำงานในที่สูงมาก ๆ ในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็นและลมแรงจัด และความยากลำบาก อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

เสร็จจากงานพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว งานก่อสร้างได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ สถาปนิกและผู้เกี่ยวข้อง ได้เดินทางขึ้นไปตรวจและติดตามผลงานอยู่เสมอ ได้มีการประชุมปรึกษาหารือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีเสมอมา งานส่วนโครงสร้างนี้ ตามแผนงานกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ๒๕๓๕ แต่ด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกฝ่าย งานจึงแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๔ เร็วกว่าแผนงานประมาณ ๓ เดือน คณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ตรวจและรับมอบงานไว้เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๔

การตกแต่ง

เป็นงานที่คณะผู้ออกแบบและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ให้ความสนใจ ช่วยกันคิด ช่วยกันจัดให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ที่ได้มาเห็นเกิดความประทับใจในความงามและความเป็นหนึ่งของปูชนียสถานที่สำคัญนี้ แต่การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุทำได้จำกัดเนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีความชื้นสูงและเย็นจัด จึงทำให้ต้องคำนึงถึงความคงทนถาวร ตลอดจนความกลมกลืนกับภูมิประเทศด้วย แม้จะต้องเสียความสวยงามไปบ้างก็จำเป็นต้องยอม

ส่วนสำคัญของการตกแต่งที่ต้องพิจารณากันมากคือ การตกแต่งผนังด้านในโถงเจดีย์เดิมกำหนดให้ตกแต่งส่วนเพดานโถงด้วยโมเสกสีเป็นรูปดอกสาละ ผนังตอนล่างระดับเดียวกับซุ้มประตู ประดับด้วยภาพพุทธประวัติสลักด้วยหินแกรนิต ผนังภายในที่เหลือทั้งหมดประดับด้วยหินอ่อน ซึ่งจะมีลักษณะเช่นเดียวกับการตกแต่ง ผนังด้านในโถงเจดีย์ของพระมหาธาตุนภเมทนีดล แต่เมื่อคณะกรรมการอำนวยการฯ เสนอแบบให้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ให้ข้อคิดเห็นในส่วนนี้ว่าควรจะได้มีภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในราชการที่ ๙ ประดับไว้ภายในโถงเจดีย์ด้วย เพื่อให้ผู้ที่มาสักการะและเยี่ยมชมได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าไว้ในความทรงจำตลอดไป เป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในราชการที่ ๙ ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์น้อมเกล้าฯ ในครั้งนี้ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการฯ และคณะผู้ออกแบบมีความเห็นชอบตามข้อแนะนำของผู้บัญชาการทหารอากาศ และได้กราบทูลขอคำวินิจฉัยจาก สมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อให้แน่ใจในความเหมาะสม ก็ได้ทรงเห็นชอบด้วย คณะผู้ออกแบบจึงตกลงใจที่จะให้มีภาพพระราชกรณียกิจฯ สลักด้วยหินแกรนิตประดับไว้ที่ผนังตอนล่างภายในโถงเจดีย์ ส่วนภาพพุทธประวัติให้ประดับไว้ที่ผนังตอนบน โดยเปลี่ยนจากแกะสลักด้วยหินแกรนิต เป็นประดับด้วยโมเสกสีจากอิตาลี

ภาพพระราชกรณียกิจ ภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์เป็นโถงรูป ๑๒ เหลี่ยม มีซุ้มประตูทางเข้า ๓ ซุ้ม มีผนังระหว่างซุ้มประตู ช่วงละ ๓ ด้าน คณะอนุกรรมการก่อสร้างและตกแต่ง จึงได้พิจารณาจัดภาพ พระราชกรณียกิจเป็น ๓ กลุ่ม ให้ครอบคลุมพระราชกรณียกิจที่สำคัญทั้ง ๓ ด้าน โดยได้มอบหมายให้ นาวาอากาศเอกหญิง สุมามาลย์ พลวัน เป็นผู้จัดภาพ และได้ตกลงว่าจ้าง ศักดิ์ศิลาพานิชย์ เป็นผู้แกะสลัก

ลักษณะของภาพเป็นแบบผสมนูนต่ำและนูนสูง แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีขาว ของจังหวัดจันทบุรี ภาพแต่ละกลุ่มจะมีขนาดความกว้าง ๑๓.๓๐ เมตร สูง ๓.๔๐ เมตร หนา ๒๕ เซนติเมตร เป็นภาพหินแกรนิตแกะสลักที่ใหญ่มากภาพหนึ่ง ในระหว่างการแกะสลักนี้ทั้ง คุณศักดิ์ชัย ศิลาแสงรุ้ง ซึ่งเป็นผู้รับงาน และคณะอนุกรรมการก่อสร้าง และตกแต่งโดย พลอากาศโท วิจิตร สำนองสุข, นาวาอากาศเอกหญิง สุมามาลย์ พลวัน และคุณแหลมสิงห์ ดิษฐ์พันธ์ ได้ร่วมกันทำการปรับแต่งภาพโดยใกล้ชิดทุกขั้นตอน เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ยังได้ทำการตกแต่งภาพเพื่อให้มีความคมชัดมีรายละเอียดที่แสดงถึงความประณีตบรรจง และความอ่อนช้อยมากขึ้น โดยมอบให้คุณประสิทธิ์ ศรีสมบัติ ปฏิมากร เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับคุณชล นามจันทรา และช่างแกะสลักของศักดิ์ ศิลาพาณิชย์ ในความควบคุม ของ นาวาอากาศเอกหญิง สุมามาลย์ พลวัน ทุกคนได้ทุ่มเททำงานนี้ด้วยความอดทนและเสียสละทำให้ภาพที่ปรากฏมีความ สวยงามเกินกว่าที่คาดคิดไว้และเป็นที่ชื่นชมโสมนัสของล้นเกล้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์เป็นอย่างยิ่ง

ภาพกลุ่มที่ ๑ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ และเคียงข้างองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ เป็นตัวอย่างให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเพื่อนร่วมชาติ

ภาพในกลุ่มนี้ จึงเป็นภาพการปฏิบัติพระราชกรณียกิจผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภาพการเยือนนานาประเทศ และการเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ


ภาพกลุ่มที่ ๑ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิรกราน
นบพระภูมิบาล บุญญดิเรก

ภาพกลุ่มที่ ๒ เป็นภาพที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่มั่นคงของพระสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ที่จะทรงช่วยเหลือให้ราษฎรในชนบทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการแนะนำและส่งเสริมการสร้างงานในลักษณะของหัตถกรรมในครัวเรือน โดยการนำเอาวัสดุในท้องถิ่นมาประดิษฐ์ตกแต่งเป็นอาภรณ์เครื่องประดับ เครื่องใช้ และอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ราษฎรในชนบทมีรายได้เพิ่มขึ้น มีระดับความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ยังเป็นการสืบทอดศิลปะพื้นบ้านอันมีค่าไว้ให้อนุชนได้ชื่นชมต่อไปด้วย พระเกียรติคุณนี้เป็นที่เลื่องลือและยกย่องกันในระดับนานาชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงได้ลงมติทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ “เซเรส” ประจำปี ๒๕๒๒ เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นเครื่องสดุดี พระราชกรณียกิจสำคัญในด้านการสังคมสงเคราะห์ และส่งเสริมให้ราษฎรได้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี ที่มั่นคงก้าวหน้า นอกจากนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุธโธ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ด้วยตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมด้านศิลปะและการสร้างสรรค์อีกด้วย

ภาพในกลุ่มนี้จึงเป็นภาพศิลปาชีพการเสร็จเยี่ยมเยียน และแนะนำราษฎรในการฟื้นฟูศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน ภาพเหรียญ เซเรสและภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ท่ามกลางดอกแคทลียา ดอกกุหลาบ และดอกดอนย่า ซึ่งได้ขอพระราชทานใช้ชื่อควีนสิริกิติ์ เป็นการเฉลิมพระเกียรติ


ภาพกลุ่มที่ ๒ เป็นภาพที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่มั่นคง

เอกบรมจักริน พระสยามินทร์ พระยศยิ่งยง

ภาพกลุ่มที่ ๓ เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่สะท้อนถึงความเป็นพระแม่เจ้าของชาวไทย ที่ทรงเอื้ออาทรห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ต้องตกอยู่ในความทุกข์ยาก ทั้งที่เกิดจาก ภาวะแห้งแล้ง ภัยธรรมชาติ ตลอดจนการเจ็บป่วยทั้งกายและใจ ได้เสด็จเยี่ยมเยียนให้กำลังใจโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากพระวรกาย และภยันตรายที่บังเกิดแก่พระองค์เลย พระมหากรุณาธิคุณนี้ เป็นที่ซาบซึ้งประทับอยู่ในดวงใจของคนทั้งชาติ พระมหากรุณาธิคุณนี้มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะประชาชนคนไทยเท่านี้ หากแต่ยังได้เผื่อแผ่ไปถึงบรรดาผู้อพยพหนีภัยสงครามจากเพื่อนบ้านด้วย เป็นผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงวอชิงตัน ดีซีสหรัฐอเมริกา มีมติที่ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL HUMANITARIAN AWARD) แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในราชการที่ ๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และเกื้อกูลกิจการด้านมนุษยธรรมนานัปการ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้มอบรางวัลเกียรติยศนี้แก่บุคคลที่มิใช่คนอเมริกัน

ภาพในกลุ่มนี้ จึงเป็นภาพที่เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในถิ่นทุรกันดาร การทำนุบำรุงศาสนา รวมทั้งภาพการรณรงค์รักษาป่าไม้และต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ต้นเหตุ


ภาพกลุ่มที่ ๓ เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่สะท้อนถึงความเป็นพระแม่เจ้าของชาวไทย

เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณธรักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์

ผนังตอนบนภายในโถงเจดีย์ประดับด้วยภาพพุทธประวัติ

ผนังตอนบนภายในโถงเจดีย์ประดับด้วยภาพพุทธประวัติ ทำด้วยโมเสกแก้ว ซึ่งออกแบบการจัดภาพ และสีด้วยคอมพิวเตอร์ สั่งทำพิเศษจากอิตาลี เป็นภาพแสดงเรื่องราวของ พระนางสิริมหามายา พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในโลกรวมทั้งได้ทะนุบำรุงให้มีการสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้รวม ๑๒ ภาพ


ภาพที่ ๑ ภาพพระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต

ภาพที่ ๒ ภาพพระนางสิริมหามายาประสูติพระโพธิสัตว์ใต้ร่มต้นสาละ

ภาพที่ ๓ ภาพพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดสันดุสิตเทพบุตร

ภาพที่ ๔ ภาพพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงบริบาล พระโพธิสัตว์

ภาพที่ ๕ ภาพพระพุทธเจ้าทรงผนวชพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระภิกษุณี

ภาพที่ ๖ ภาพพระนางมหาปชาบดีโคตมี ปรินิพพาน

ภาพที่ ๗ ภาพนางวิสาขามหาอุบาสิกาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

ภาพที ๘ ภาพพระนางวิสาขาถูกไล่ออกจากบ้านของมิคารเศรษฐี

ภาพที่ ๙ ภาพพระนางวิสาขาถวายโลหะปราสาทแก่พระพุทธเจ้า

ภาพที่ ๑๐ ภาพพระนางยโสธราพิมพา ทูลขอขุมทรัพย์ให้พระราหุล

ภาพที่ ๑๑ ภาพพระพุทธเจ้าทรงชี้แจง ให้พระนางยโสธราพิมพาเข้าใจถึงขุมทรัพย์ภายนอกและขุมทรัพย์ภายใน

ภาพที่ ๑๒ ภาพพระพุทธเจ้าทรงผนวชพระนางยโสธราพิมพาเป็นพระภิกษุณี

ภาพที่ ๑ เมื่อพระโพธิสัตว์จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระนางสิริมหามายา ได้ทรงพระสุบินนิมิตเห็นพระยาช้างเผือก

ภาพที่ ๒ เมื่อทรงครรภ์ถ้วนทศมาส พระนางสิริมหามายาตั้งพระทัยจะเสด็จไปยังกรุงเทวทหะเพื่อประสูติพระโอรส แต่เมื่อเสด็จถึงลุมพินีวัน ก็ได้ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ร่มไม้สาละ พระโพธิสัตว์ทรงพระดำเนินได้ ๗ ก้าว อันเป็นนิมิตหมายว่า จะทรงเผยแผ่ศาสนา ไปในรัฐ ๗ รัฐ แห่งชมพูทวีป

ภาพที่ ๓ พระนางสิริมหามายา ได้สิ้นพระชนม์หลังจากประสูติพระโพธิสัตว์แล้ว ๗ วัน ได้ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นสันดุสิตเทพบุตร เมื่อพระโพธิสัตว์ได้บรรลุพระโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงอนุสรณ์ถึงพระพุทธมารดา จึงได้เสร็จไปยังดาวดึงส์เทวโลก และให้ท้าวสักกะไปเชิญสันดุสิตเทพบุตรลงมา ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดเพื่อทดแทนพระคุณ

ภาพที่ ๔ หลังจากที่ พระนางสิริมหามายา สิ้นพระชนม์แล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระมาตุจฉา ได้ทรงอภิบาลพระโพธิสัตว์ประดุจพระมารดา จนพระโพธิสัตว์เจริญวัย

ภาพที่ ๕ ครั้งพระโพธิสัตว์ได้เสด็จออกทรงผนวชบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว คราวหนึ่ง พระนางมหาปชาบดีประสงค์จะผนวชบ้าง จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าขอผนวช พระองค์ได้โปรดให้ผนวชเป็นพระภิกษุณี นับเป็นพระภิกษุณีองค์แรกในพุทธศาสนา และภายหลังได้รับยกย่องใน เอตทัคคะ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ทางรัตตัญญูคือมีอายุพรรษามาก

ภาพที่ ๖ พระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี ดำรงพระชนม์อยู่จนถึงปัจฉิมวัย จึงกราบทูลลาพระพุทธจ้า แล้วได้ปรินิพพาน ณ สำนักภิกษุณีในป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี

ภาพที่ ๗ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นบุตรของธนญชัยเศรษฐี เดิมอยู่ในนครภัททิยะในอังครัฐ เมื่ออายุ ๗ ขวบ เมณฑกเศรษฐีผู้เป็นปู่สั่งให้จัดการต้อนรับพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผล ต่อมาบิดาได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่เมืองสาเกต แล้วได้แต่งงานกับปุณณวัฒนกุมารบุตรของมิคารเศรษฐี นางจึงได้มาอยู่ในตระกูลสามีในนครสาวัตถี

ภาพที่ ๘ ตระกูลของมิคารเศรษฐี นับถือลัทธิชีเปลือย ไม่นับถือพุทธศาสนา วันหนึ่งมีพระภิกษุมาบิณฑบาต เศรษฐีทำเป็นมองไม่เห็นนางวิสาขา จึงพูดกับพระภิกษุว่า นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด พ่อผัวของฉันกำลังกินของเก่า ทำให้เศรษฐีโกรธ จึงไล่นางออกจากบ้าน แต่เมื่อมีการสืบสวนเรื่องราวโดยกุฎุมพีผู้ได้รับแต่งตั้งแล้ว ปรากฏว่านางไม่ผิด เศรษฐีจึงต้องยอมให้นางอยู่ และยอมให้นางทำบุญกับพระภิกษุในศาสนาได้ นางนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันและพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมโปรดจนเศรษฐีเสื่อมใส

ภาพที่ ๙ นางวิสาขามหาอุบาสิกา มีเครื่องประดับราคามากชื่อมหาลดาปสาธน์ ซึ่งราคาถึง ๙ โกฎิ คราวหนึ่งนางประดับเครื่องประดับดังกล่าวไปในงานสำคัญแล้วเลยไปยังวัดบุพพาราม ซึ่งนางสร้างถวายพระพุทธเจ้า ได้ถอดเครื่องประดับให้สาวใช้ถือไว้ สาวใช้ถือจนเมื่อย จึงพาดไว้ที่ราวบันไดในวิหารแล้วลืม จนกลับออกไปนอกวัดจึงนึกได้เมื่อย้อนกลับไปค้นหา ปรากฏว่าอานนท์ได้เก็บเครื่องประดับไว้ นางวิสาขาคิดว่า เมื่อพระได้จับต้องแล้ว จะต้องถวายพระ แต่เนื่องจากเป็นสิ่งที่พระไม่อาจใช้สอยได้ เธอจึงประกาศขายก็ไม่มีผู้ซื้อ เธอจึงซื้อเองและนำเงินอันเป็นมูลค่าของเครื่องประดับนั้นมาสร้างโลหปราสาท ถวายพระพุทธเจ้า เป็นอาคารที่พักของพระภิกษุที่ใหญ่มาก มีจำนวนห้องถึง ๑ พันห้อง

ภาพที่ ๑๐ พระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระมารดาของพระราหุล เนื่องจากพระนางทราบว่า ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะเสด็จออกทรงผนวช ได้มีขุมทรัพย์อยู่ ๔ มุมเมือง แต่ครั้งพระโพธิสัตว์ออกผนวชแล้ว ขุมทรัพย์เหล่านั้นได้หายไป เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังนครกบิลพัสด์ พระนางจึงให้พระราหุล ทูลขอขุมทรัพย์นั้นพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าภายนอกไม่จีรังยั่งยืน จึงทรงมอบทรัพย์ภายในให้ คือ โปรดให้พระราหุลบรรพชาสามเณรนับเป็นสามเณรองค์แรกในพุทธศาสนา

ภาพที่ ๑๑ การบรรพชาของพระราหุล ทำให้พระนางยโสธราพิมพา เศร้าโศกมากพระพุทธเจ้าจึงทรงชี้แจงให้ทราบถึงเหตุผลเกี่ยวกับขุมทรัพย์ภายนอกและภายใน จนพระนางเข้าพระทัย

ภาพที่ ๑๒ พระนางยโสธราพิมพา จึงได้ทูลขอผนวชเป็นพระภิกษุณี พระพุทธเจ้าก็โปรดให้ตามประสงค์ พระนางยโสธราพิมพา จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีองค์หนึ่ง ในพระพุทธศาสนา

ที่เพดานโถงประดับด้วยโมเสกแก้ว รูปดอกสาละสีน้ำตาล เกสรสีทอง มีกลีบดอก ๒ ชั้น ๆ ละ ๑๒ กลีบ ตัดเส้นกลีบดอกชั้นนอกกับชั้นในด้วยสีน้ำตาลเข้ม ที่โคนกลีบชั้นและปลายกลีบชั้นนอกติดไฟกระบอก ซึ่งปรับความเข้มของแสงได้ไว้กลับละ ๑ ดวงแล้วปรับลำแสงของดวงไฟที่กลีบชั้นในไปที่องค์พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล นอกจากนี้ยังได้ติดไฟส่องภาพพุทธประวัติ และภาพพระราชกรณียกิจโดยจัดการให้แสงไว้อย่างดียิ่งเมื่อเปิดไฟทั้งหมดแล้วภายในโถงจะดูสว่างไสว ไฟส่องมาที่ พระพุทธรูป พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล ทำให้ดูโดดเด่นสวยงามอย่างยิ่ง นอกจากนั้น แสงไฟที่ส่องภาพพระราชกรณียกิจ ที่บรรจงจัดให้เกิดความสว่างและเงาที่เหมาะเจาะ ทำให้มีภาพความคมชัดและสวยงามขึ้นเป็นอันมาก

ดอกสาละ ลักษณะของดอกไม้ชนิดนี้คล้ายดอกสารภี แต่มีขนาดใหญ่กว่าดอกสาละมีความเกี่ยวพัน กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ พระองค์ประสูติใต้ต้นสาละ ซึ่งตำนานได้กล่าวไว้ว่า ขณะนั้นกำลังผลิดอกสวยงามเป็นที่น่ารื่นรมย์ และในคราวเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ก็ประทับบรรทมบนพระแท่น ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งกำลังผลิดอกสะพรั่งอยู่เช่นเดียวกัน ดอกสาละจึงเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างสูง

การตกแต่งภายนอกองค์พระมหาธาตุเจดีย์

สิ่งที่จะสะดุดตาผู้ที่ได้เห็นพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เป็นสิ่งแรกคือ สีขององค์เจดีย์ที่มองเห็นในภาพรวมเป็นสีม่วงอมชมพู ประกอบกับ รูปทรงที่อ่อนช้อยด้วยบัวรัดรอบองค์เจดีย์ ทำให้ดูแปลกตาแตกต่างไปจากเจดีย์ทั่ว ๆ ไป เมื่อเข้าไปใกล้จะปรากฏภาพดินเผาเคลือบสีกลมกลืนกับองค์เจดีย์ประดับอยู่ที่ผนังด้านนอกขององค์เจดีย์ และภาพดินเผาเคลือบสีน้ำตาลประดับอยู่ที่ซุ้มระเบียงสีม่วงอ่อนตัดกับผนังระเบียงสีม่วง ที่ยอดองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นยอดปลีสีทองกั้นด้วยฉัตรสีเงิน ๙ ชั้น

วัสดุที่ใช้ประดับองค์เจดีย์ ผนังระเบียงและกรอบซุ้มที่ระเบียงรอบองค์เจดีย์ รวมทั้งยอดปลีของเจดีย์เป็นโมเสกแก้วสั่งทำพิเศษจากอิตาลี จำนวนประมาณ ๓,๑๕๐ ตารางเมตร ผนังองค์เจดีย์ส่วนที่เหลือประดับด้วยหินแกรนิตขัดมันสีเทาอมขาว พื้นภายในโถงเจดีย์และพื้นระเบียงทั้ง ๒ ชั้น ปูด้วยหินแกรนิตขัดมันสีเทาอมดำ

ส่วนยอดขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งมีรูปทรงเป็นยอดปลีล้อมด้วยกลีบบัวตูมนี้ประดับด้วยโมเสกแก้วสีทองสั่งทำพิเศษจากอิตาลี ลักษณะโมเสกเป็นแก้วใสหุ้มแผ่นทองอยู่ภายใน เมื่อถูกแสงแดดจึงดูวาววับเหลืองอร่ามเหมือนหุ้มด้วยแผ่นทองคำ เหนือขึ้นไปกั้นด้วยฉัตร ๙ ชั้น ทำด้วยโลหะสีเงิน ฉลุลายทุกชั้น มีความสูงจากเชิงฉัตรชั้นล่างสุดถึงยอดฉัตร ๔ เมตร ๕๐ เซนติเมตร ฉัตรชั้นล่างกว้าง ๑ เมตร ๘๐ เซนติเมตร ยอดฉัตรทำด้วยทองเหลือง ออกแบบและสร้างโดยอาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี

องค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วงอมชมพูเป็นสีเดียวกันตลอดทั้งองค์ แต่ด้วยลักษณะการสะท้อนของแสงและเงาที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นรูปลักษณ์ขององค์เจดีย์ได้อย่างชัดเจน

ผนังด้านนอกขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ประดับด้วยภาพปั้นดินเผา ๙ ภาพ เป็นภาพที่เล่าเรื่องราวของพระภิกษุณีผู้เป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในครั้งพุทธกาลมีความอ่อนช้อยสีสันสวยงาม โดยมีสีส่วนรวมเป็นสีม่วงรับกับพื้นผิวขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ จากการดำเนินการของ คุณวันโชค-วันชัย กฤษฎามหาสกุล พี่น้องฝาแฝดแห่งนครไทย เซอรามิก อ.เมือง จ.นครปฐม

การทำงานในครั้งนี้ ได้ระดมนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรปีสุดท้าย และนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่างจำนวน ๑๔ คน ปั้นภาพดังกล่าว ในระหว่างปิดภาคการศึกษาใช้เวลา ๖๐ วัน ภาพปั้นทั้งหมดผึ่งแห้งในที่ร่มประมาณ ๓๐ วัน เมื่อแห้งดีแล้ว จึงนำไปเผาดิบ ใช้ความร้อน ๗๐๐ องศาเซลเซียส ขั้นต่อไป นำภาพที่เผาดิบแล้วมาระบายสี ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความประณีตมาก เมื่อระบายสีเสร็จแล้วจึงพ่นน้ำยาเคลือบสีแล้วนำไปเผาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเผาเคลือบด้วยความร้อน ๑,๒๕๐ องศาเซลเซียส

ในการระบายสีให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด ได้มีการทดสอบการผสมสีเป็นจำนวนร้อย ๆ สี และเพื่อมิให้มีการผิดพลาดใด ๆ จึงได้นำสีผสมได้ทั้งหมดมาทดสอบด้วยกรรมวิธีการเผาเคลือบ จนกระทั่งได้สีตรงตามต้องการ รวมเวลาในการทดสอบสีทั้งสิ้น ๙๐ วัน

แม้เป็นงานที่ยากลำบากและต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างมาก แต่ผลสำเร็จที่ได้มีความสมบูรณ์เป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการฯ รวมทั้งผู้ดำเนินการ ซึ่งทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ผลสำเร็จในครั้งนี้เป็นเพราะพระบารมีแห่งองค์พระมหาธาตุเจดีย์ฯ และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระแม่เจ้าชาวไทยโดยแท้ที่ได้น้อมนำให้ คุณวันโชค-วันชัย กฤษฎามหาสกุล รับทำงาน ซึ่งทั้งสองคนมีความรู้สึกว่างานนี้เป็นงานชิ้นเดียวในชีวิตที่มีค่าสูงสุด จึงได้มุ่งมั่นทำงานอย่างสุดความสามารถ

ภาพปั้นรอบองค์เจดีย์เป็นเรื่องราวในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ ของพระภิกษุณี ที่บำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหัต และเป็นเอตทัคคะ ตามลำดับ ประกอบด้วย


ภาพที่ ๑ พระเขมาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางมีปัญญามาก

ภาพที่ ๒ พระอุบลวัณณาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางมีฤทธิ์มาก

ภาพที่ ๓ พระปฎาจาราภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางมีวินัยมาก

ภาพที่ ๔ พระโสณาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางความเพียร

ภาพที่ ๕ พระนันทาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางฌาน

ภาพที่ ๖ พระธัมมทินนาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางธรรมกถึก

ภภาพที่ ๗ พระสกุลาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางจักษุทิพย์

ภาพที่ ๘ พระภัททากุณฑลเกสาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางตรัสรู้ได้เร็วพลัน

ภาพที่ ๙ พระภัททากปิลานีภิกษุณี ผู้เป็นเลิศทางระลึกชาติก่อน ๆ ได้

ภาพปั้นเรื่องราวของภิกษุณีทั้ง ๙ ภาพได้จัดตกแต่งไว้ตามลำดับเริ่มต้นภาพแรกทางซ้ายของประตูทางเข้าด้านหน้าเวียนเป็นทักษิณาวัฏ

พระภัททากปิลานีเถรี

ท่านเป็นธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรในสาคลนครแห่งมัททรัฐ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้แต่งงานกับปิปผลิมาณพ บุตรของกบิลพราหมณ์ แห่งบ้านพราหมณ์มหาติฏฐะ ในนคธรัฐ ท่านทั้งสองมิได้มีเพศสัมพันธ์กัน เพราะเป็นผู้มีบารมีแก่กล้าได้อยู่ครองเรือนมาจนบิดามารดาสิ้นชีพหมดแล้ว จึงต่างพากันออกบวช ท่านได้มาบวชอยู่ในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีไม่นาน ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ท่านชำนาญในการระลึกชาติ ในอดีตหนึ่งท่านได้ทะเลาะกับน้องสาวของสามี วันหนึ่งหญิงนั้นได้ใส่บาตรพระปัจเจกพระพุทธเจ้าและอธิษฐานดัง ๆ ให้ท่านได้ยินว่าขออย่าให้พบเห็นหญิงเช่นนี้ ท่านได้ยินเข้าก็โกรธจึงแย่งบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเททิ้งเสีย เอาดินโคลนใส่แทนถวายพระไป ผู้เห็นเหตุการณ์ตำหนิท่านว่า ท่านเป็นคนพาลทะเลาะกันเองแล้วทำไมไปทำกับพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านกลับได้สติจึงขอบาตรคืนมาเทโคลนทิ้ง ล้างสะอาดแล้วอบด้วยความหอม บรรจุอาหารประณีตราดเนยสีสวย ถวายอธิษฐานขอให้มีผิวพรรณผุดผ่องในชาตินี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งท่านในตำแหน่งผู้เป็นเลิศของภิกษุณีผู้ระลึกชาติได้

ซุ้มระเบียงรอบองค์เจดีย์ ประดับด้วยภาพปั้นดินเผาเคลือบสีน้ำตาล เลียนแบบสีธรรมชาติของเนื้อดิน ทำให้ซุ้มระเบียงมีความงามเด่น และช่วยเสริมส่งให้องค์พระมหาธาตุเจดีย์มีความวิจิตรยิ่งขึ้น ที่ซุ้มระเบียงบนด้านในจะเป็นภาพสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ด้านนอกเป็นภาพเรื่องราวของอุบาสิกาผู้เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ๖ นาง สำหรับภาพที่ประดับในซุ้มระเบียงล่างด้านใน เป็นภาพอุบาสิกาผู้เป็นเลิศ ๓ นาง และพระภิกษุณีผู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องให้เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ อีก ๓ รูป ส่วนภาพด้านนอกของซุ้มระเบียงล่างเป็นภาพปีกสัญลักษณ์ของกองทัพอากาศ ภาพที่ประดับซุ้มระเบียงทั้ง ๒๔ ภาพนี้ เรือตรี ประดิษฐ์ ศรีวิชัยนันท์ เป็นผู้รับงานโดยให้อาจารย์และนักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาทำการปั้นภาพแล้วดำเนินกรรมวิธีในการเผาเคลือบเช่นเดียวกันกับภาพรอบองค์เจดีย์ แต่เป็นการเคลือบด้าน

ภาพปั้นซุ้มระเบียงบนด้านนอก เป็นเรื่องราวของอุบาสิกาผู้ใฝ่ธรรมะตั้งแต่ครั้งอดีตชาติปรารถนาบังเกิดในพุทธภูมิ เพื่อจะได้บำเพ็ญกุศลถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้รับการสถาปนาไว้ในตำแหน่องเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ ว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ประกอบด้วย


ภาพที่ ๑ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา เลิศกว่าอุบาสิกา ผู้ถวายรสอันประณีต

ภาพที่ ๒ นางนกุลมาตาคหปตานี เลิศกว่าอุบาสิกา ผู้คุ้นเคย

ภาพที่ ๓ นางอุตตรานันทมาตา เลิศกว่าอุบาสิกา ผู้ยินดีในฌาน

ภาพที่ ๔ นางกาฬีอุบาสิกา เลิศกว่าอุบาสิกา ผู้เลื่อมใสโดยได้ยินได้ฟังตาม

ภาพที่ ๕ นางสุปปิยาอุบาสิกา เลิศกว่าอุบาสิกา ผู้เป็นคิลานุปัฎฐาก

ภาพที่ ๖ นางกาติยานี เลิศกว่าอุบาสิกา ผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น

พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา

พระนางเป็นราชธิดาในโกลิยนคร เมื่อเจริญวัยขึ้นได้อภิเษกสมรสกับราชกุมารแห่งศากยวงศ์องค์หนึ่ง พระนางจึงได้มาประทับอยู่ในนครกบิลพัสดุ์ ต่อมาได้ประสูติโอรสองค์หนึ่งได้ขนานนามว่า สีวลี คือพระสีวลีเถระ ผู้ได้รับเอตทัคคะในทางเป็นผู้มีลาภมากนั้นเอง พระนางสุปปวาสา ได้เคยจัดโภชนะมีรสหลายหลากถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การถวายอาหารอันประณีตเป็นการให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ผู้ถวายย่อมได้รับผลทั้ง ๕ อย่างนั้นทั้งส่วนที่เป็นของมนุษย์และที่เป็นทิพย์ ต่อมาภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องตั้งพระนางไว้ในตำแหน่งผู้เป็นเลิศของบรรดาผู้ถวายอาหารอันประณีต

ภาพปั้นซุ้มระเบียงล่างด้านใน เป็นเรื่องราวของพระภิกษุณีผู้เป็นเลิศ รวมทั้งอุบาสิกาผู้เป็นเลิศ ซึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้บวชและบรรลุอรหันต์ทุกองค์ ประกอบด้วย

ภาพที่ ๑ พระกีสาโคตมีภิกษุณี เป็นเลิศกว่าภิกษุณีผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

ภาพที่ ๒ พระสิคาลมาตาภิกษุณี เป็นเลิศกว่าภิกษุณีผู้พ้นจากกิเลสได้ด้วยศรัทธา

ภาพที่ ๓ พระนางอโนชาภิกษุณี ผู้มีความตั้งใจมั่น

ภาพที่ ๔ นางสุชาดาเสนียธิดา เลิศกว่าอุบาสิกาผู้สรณะก่อน

ภาพที่ ๕ นางขุชชุตตรา เลิศกว่าอุบาสิกาผู้เป็นพหูสูต

ภาพที่ ๖ นางสามาวดี เลิศกว่าอุบาสิกาผู้ปกติอยู่ด้วยเมตตา

ภาพปั้นซุ้มระเบียงบนด้านใน เป็นภาพสวรรค์ ประกอบด้วย

ภาพที่ ๑ สวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาภูมิ มีท้าวจาตุมมหาราช ปกครอง

ภาพที่ ๒ สวรรค์ชั้นที่ ๒ ตาวติงสาภูมิ มีท้าวสักกะเทวราช ปกครอง

ภาพที่ ๓ สวรรค์ชั้นที่ ๓ ยามาภูมิ มีท้าวสุยาม ปกครอง

ภาพที่ ๔ สวรรค์ชั้นที่ ๔ ดุสิตาภูมิ มีท้าวสันดุสิต ปกครอง

ภาพที่ ๕ สวรรค์ชั้นที่ ๕ มินมานรตีภูมิ มีท้าวสุนิมมิต ปกครอง

ภาพที่ ๖ สวรรค์ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตสวัตตีภูมิ มีท้าววสวัตตี ปกครอง

สวรรค์ชั้นที่ ๒ ดาวติงสาภูมิ

สวรรค์ชั้นนี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ คือ ดาวดึงส์ ไตรตรึงส์ หรือ ไตรทศ เพราะมีเทพสำคัญที่เป็นเทพบดีมีมเหสักข์ ๓๓ องค์ เกิดขึ้นก่อน มีท้าวสักกะเทวราช หรือท้าวมัฆวาน หรือ พระอมรินทราธิราชปกครองลงเป็นใหญ่ มีไพชยนตปราสาทสูง ๗๐๐ โยชน์ ประดับตกแต่งสวยงามวิจิตรพิสดารมาก สถานที่สำคัญมี สวนนันทวันอยู่ทางทิศตะวันออก สวนจิตรลดาวันอยู่ทางทิศตะวันตก สวนมิสกวันอยู่ทางทิศเหนือ สวนปารุสกวันอยู่ทางทิศใต้ มีพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งบรรจุพระเกศเมาลีและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้ามีต้นไม้ทิพย์ชื่อปาริชาต ใต้ต้นไม้นี้มีแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ และมีเทวสภาชื่อสุธรรมา อันเป็นที่ประชุมฟังธรรม มีสระน้ำชื่อ สุนันทา และเมื่อท้าวสักกะกับเทพบดีทั้งหลายจะเสด็จไปประพาสสถานที่ต่าง ๆ จะทรงช้างเอราวัณเที่ยวไป ผู้ที่บังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้คือผู้ที่บำเพ็ญกุศลมีให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น



การอัญเชิญพระนามาภิไธยขึ้นประดิษฐาน

ที่ด้านบนของซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้าน ได้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ สก. ขึ้นประดิษฐานไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เพื่อให้พสกนิกรผู้ได้มาสักการะ และเยี่ยมชมพระมหาธาตุเจดีย์จักได้รำลึกถึงพระบารมีและร่วมอนุโมทนาสาธุการไปชั่วกาลนาน ในการอัญเชิญพระนามาภิไธยขึ้นประดิษฐานนี้ท่านครูบาเทือง วัดบ้านเด่น อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เมตตาแนะนำให้ประกอบพิธี ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. โดยให้ประธานในพิธีทำพิธีบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครององค์พระมหาธาตุเจดีย์ และบูชาด้วยดอกไม้หอม ๕ ชนิด ได้แก่ ดอกอูน ดอกเกตวา ดอกจำปา ดอกกะดังงาไทย และดอกหอมไกล เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระนามาภิไธยขึ้นประดิษฐาน ในเวลาเดียวกันนี้ท่านครูบาเทือง ได้เจริญภาวนาให้ที่วัดของท่านด้วย ซึ่งคณะกรรมการพิธีการได้ดำเนินการตามคำแนะนำทุกประการโดยมีประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประธานในพิธี ในขณะทำพิธีอยู่นั้นได้มีฝนตกลงมาเป็นอย่างหนัก เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้ร่วมพิธีเป็นอย่างยิ่ง

ประตูทางเข้าทำเป็น ๒ ชั้น ประตูชั้นในเป็นบานเลื่อนอลูมิเนียม กรุด้วยกระจกสีชา ส่วนประตูชั้นนอกเป็นบานปิดเปิด กรอบบานและวงกบทำด้วย STAINLESS กรุด้วยกระจกใส ที่กรอบบาน
กรุลายด้วยวัสดุอัลลอยสีแดงทอง

บันไดทางขึ้นพระมหาธาตุเจดีย์ ๑๒๙ ขั้น ปูด้วยหินแกรนิตผิวหยาบพื้นชานพักปูด้วยหินแกรนิตผิวหยาบล้อมกรอบด้วยหินแกรนิตขัดมัน ราวบันไดปูด้วยหินแกรนิตผิวหยาบเช่นเดียวกับขั้นบันไดที่หัวเสาระเบียงบันไดประดับด้วยหินแกรนิตรูปทรงกลมรับกับหัวเสาระเบียงบันไดของพระมหาธาตุนภเมทนีดล และชานบันไดชั้นล่างซึ่งเชื่อมต่อกับชานบันไดของพระมหาธาตุนภเมนีดล ได้ติดตั้งแผ่นจารึกการสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริไว้ในลักษณะที่สมดุลกับแผ่นจารึกการสร้างพระมหาธาตุนภเมทนีดล


ภูมิสถาปัตย์


การตกแต่งภายนอกองค์พระมหาธาตูนภพลภูมิสิริ

ลักษณะของดินบริเวณเนินที่สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นดินทรายที่มีดินผสมอยู่ เฉพาะที่ผิวหน้าดินเท่านั้น ลึกลงไปเป็นทรายไม่มีอินทรีย์สารที่เป็นอาหารของพืชผสมอยู่เลย ในการเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างขึ้น ต้องตัดยอดเนินลงไปถึง ๑๕ เมตร และตักเอาดินส่วนนี้ไปกลบไว้ที่ไหล่เขาโดยรอบ สภาพพื้นที่รอบองค์เจดีย์จึงดูเหมือนภูเขาทราย มีพื้นที่ที่เป็นลานรอบองค์เจดีย์อยู่ประมาณ ๖,๐๐๐ ตารางเมตร ที่จะต้องตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกและไม้ประดับให้สวยงาม และมีพื้นที่บริเวณไหล่เขาโดยรอบที่ต้องฟื้นฟูให้กลบกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขา งานด้านภูมิสถาปัตย์จึงแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน ได้แก่ การป้องกันการพังทลายของดิน การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและการตกแต่งพื้นที่รอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ การป้องกันการพังทลายของดินและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมขึ้นเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน หลังพิธีน้อมเกล้าฯ แล้วกองทัพอากาศจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นรับผิดชอบ โดยมี พลอากาศโท วิจิตร สำนองสุข เป็นประธานคณะทำงาน

ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการก่อสร้างและตกแต่งได้ดำเนินการป้องกันการพังทลายของดินในขั้นต้นแล้ว ด้วยการปรับดินที่ถมไว้ตามไหล่เขาให้มีความลาดชันน้อยลง เพื่อลดความรุนแรงของการพังทลายในฤดูฝน และได้ก่อหินให้แน่นในบริเวณไหล่เขาด้านหน้าเพราะเป็นบริเวณที่ใกล้องค์เจดีย์มาก หากปล่อยให้มีการพังทลายของดินเกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายต่อองค์เจดีย์ จึงจำเป็นต้องป้องกันให้ได้ผลในทันทีแม้จะต้องทำให้ทัศนียภาพเสียไปบ้างก็จำต้องยอม แต่ก็ได้พยายามเสริมแต่งให้กลมกลืนกับธรรมชาติโดยเจาะเป็นหลุมเอาต้นไม้ป่ามาปลูก

ในการตกแต่งพื้นที่รอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ขึ้นด้านหลังทำเป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่ มีสระน้ำพุอยู่ตรงกลางที่ทางเดินปูด้วยหินแกรนิตเทียมลัดเลาะไปโดยรอบ ให้ผู้มาสักการะและเยี่ยมชมได้พักผ่อนชมความงามของพันธุ์ไม้และชมทิวทัศน์ของพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ด้านหน้ามีสวนหย่อมขนาดย่อมอยู่บริเวณหน้าลานชมวิว ต่อจากสวนหย่อมไปเป็นไหล่เนินที่ลาดลงสู่ลานจอดรถซึ่งตกแต่งด้วยไม้ทรงพุ่มเป็นกลุ่ม ๆ ที่เชิงเนินบริเวณป้ายชื่อพระมหาธาตุเจดีย์ ทำเป็นสวนหย่อมขนาดเล็กให้เป็นมุมถ่ายภาพของผู้มาเยี่ยมชม



พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่บนแท่นกลางโถง พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เป็นพระพุทธรูปปางรำพึงซึ่งเป็นพระประจำวันศุกร์ อันเป็นวันพระราชสมภพ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ แกะสลักด้วยหินหยกขาว (ฮันไป่หยู) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีขนาดความสูงเฉพาะองค์พระ ๓ เมตร ๒๐ เซนติเมตร ประทับยืนอยู่บนดอกบัว มีชายสังฆาฏิพาดอยู่บนบัลลังก์ หนักประมาณ ๕ ตัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นพระพุทธรูปหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่และงามที่สุดองค์หนึ่ง ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ว่า “พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล” มีความหมายว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคล และ ทรงเจริญพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ กองทัพอากาศ มีความภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้สิ่งที่เป็นหนึ่งถวายแด่องค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในวโรกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้

การดำเนินการแกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้ของช่างจีนนั้น เป็นไปด้วยความละเอียดประณีตทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเลือกสรรหินให้ได้หินที่ขาวบริสุทธิ์ทั้งก้อน ซึ่งโดยปรกติแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก ในสัญญาจ้างจึงระบุไว้แต่เพียงส่วนที่เป็นพระพักตร์ ต้องขาวบริสุทธิ์ ส่วนอื่น ๆ ขององค์พระต้องไม่มีตำหนิที่เห็นได้เด่นชัด

แต่ช่างจีนก็ได้พยายามหาหินหยกขาวบริสุทธิ์มาสลักให้จนได้ โดยเฉพาะในส่วนล่าง ซึ่งต้องใช้หินก้อนใหญ่มากนั้น ต้องเปลี่ยนหินถึง ๓ ก้อน เพราะเมื่อสลักลึกเข้าไปแล้ว มีจุดสีเทาอ่อน ๆ ปนอยู่ ซึ่งคณะกรรมการฯ และผู้ควบคุมงานนี้ต่างมีความประทับใจในความตั้งใจของช่างจีนเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนในการแกะสลักนั้น ช่างจีนมีกรรมวิธีเป็นขั้นเป็นตอนน่าไว้วางใจ โดยเริ่มต้นด้วยการปั้นแบบดินขยายให้ได้ขนาดเท่าองค์จริงจากต้นแบบปูนปลาสเตอร์ ความสูง ๙๐ เซนติเมตร ซึ่งออกแบบโดย นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ เมื่อตกแต่งแบบดินปั้นเรียบร้อยแล้วทำการถอดพิมพ์หล่อปูนปลาสเตอร์ โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน ที่พระโสณีตตอนล่างที่ต้องแบ่งเป็น ๒ ส่วนนี้ เนื่องจากขนาดของพระพุทธรูปรวมทั้งแท่นแล้วจะสูงถึง ๓ เมตร ๘๐ เซนติเมตร ไม่สามารถที่จะหาหินขนาดใหญ่พอได้ จากนั้นจึงนำเอาแบบปูนปลาสเตอร์นี้ ไปเป็นต้นแบบในการสลักหินต่อไป

ในขั้นการทำต้นแบบนี้ กองทัพอากาศได้ส่ง นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ และ นาวาอากาศเอกหญิง สุมามาลย์ พลวัน ผู้ออกแบบ และผู้ควบคุมงานแกะสลักไปตรวจแก้แบบ ๒ ครั้ง ครั้งแรก เมื่อปั้นแบบดินได้ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ในครั้งนี้ได้ช่วยช่างจีนแก้ไขและปั้นแต่งส่วนของพระพักตร์ พระเกศ กลีบบัวรองพระบาท ลวดลายไทยที่บัลลังก์ และอื่น ๆ ที่เป็นงานศิลปะไทย ซึ่งช่างจีนไม่สามารถปั้นให้อ่อนช้อย งดงาม ถูกต้อง ตามพุทธลักษณะและศิลปะไทยได้ การไปตรวจแก้แบบในครั้งนี้จึงมีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้มีรูปลักษณ์ที่งดงามถูกต้องตามพุทธลักษณะ ซึ่งช่างจีนเองก็ยอมรับในข้อนี้ ดังนั้น เมื่อช่างจีนหล่อแบบปูนปลาสเตอร์เสร็จ ในช่วงตกแต่งรายละเอียดของแบบปูนปลาสเตอร์ จึงได้ติดต่อขอให้เจ้าหน้าที่ชุดเดิมไปช่วยตรวจแก้ไขก่อนที่จะนำไปเป็นแบบในการแกะสลัก

การแกะสลักหินของช่างจีน ทำโดยการใช้เครื่องมือวัดและกำหนดจุดความตื้นลึก ของต้นแบบอย่างละเอียด แล้วจึงทำการสลักไล่ตามจุด จึงทำให้ขนาดและความตื้นลึก เหมือนแบบไม่มีผิดเพี้ยน สิ่งสำคัญคือ การเก็บรายละเอียด ซึ่งมีผิดเพี้ยนไปบ้าง ด้วยความไม่เข้าใจในศิลปะ และความหมายในพุทธลักษณะ เช่น พระเนตรที่เหลือบลงต่ำ ด้วยความไม่เข้าใจในความหมายทำให้ดูเหมือนตาปรือ
เป็นต้น ซึ่งผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทยประจำกรุงปักกิ่ง นาวาอากาศเอก เกื้อกูล วัฒนศักดิ์ (ยศในขณะนั้น) ผู้ที่กองทัพอากาศแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้าง และกำกับดูแลการแกะสลัก มองเห็นถึงความผิดเพี้ยนในรายละเอียดนี้ จึงได้เสนอแนะให้ส่ง นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ และนาวาอากาศเอกหญิง สุมามาลย์ พลวัน ไปทำการปรับแก้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนการตรวจรับงานของคณะกรรมการ เวลาที่ใช้ในการแกะสลัก ประมาณ ๑๐ เดือน

การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปหินหยกจากประเทศจีน

คณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งประกอบด้วย พลอากาศโท วิจิตร สำนองสุข พลอากาศตรี ประกลป์ วิจิตรานุช และคณะ รวม ๑๓ คน ได้เดินทางโดยเครื่องบิน C-๑๓๐H ของกองทัพอากาศ ไปตรวจรับงานและได้นำกลับมาถึงเชียงใหม่ ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๕ พร้อมด้วย

การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปหินหยก จากประเทศจีน จนถึงภายในโถงเจดีย์ ทุกขั้นตอนได้ทำกันด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนย้ายจากลานจอดรถเข้าไปในโถงเจดีย์ กรมช่างโยธาทหารอากาศได้สร้างรางเลื่อนจากโถงภายในเจดีย์ตรงออกมาถึงแนวขอบระเบียงชั้นล่าง แล้วใช้รถปั้นจั่นยกองค์พระจากรถบรรทุกวางบนรางเลื่อน โดยมีทหารจากศูนย์ควบคุมและรายงาน
ดอยอินทนนท์ มาช่วยกันประคองเข็นหีบบรรจุพระเข้าไปในโถงเจดีย์ ทำให้การเคลื่อนย้ายง่ายและปลอดภัยกว่าการที่จะเคลื่อนย้ายไปตามขั้นบันได

ช่างจีน ๔ คน ที่เดินทางมาประกอบและตกแต่งรายละเอียดในขั้นสุดท้าย รวมทั้งประดิษฐานพระพุทธรูปบนแท่นกลางโถงพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งใช้เวลา ๒๐ วัน โดยมี พันจ่าอากาศเอก ภิญโญ แผนสมบูรณ์ ทำหน้าที่เป็นล่าม

เมื่อประดิษฐานพระพุทธรูปเรียบร้อยแล้ว กองทัพอากาศจึงได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและเบิกพระเนตร พร้อมกับพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานไว้ในยอดปลี ของพระมหาธาตุเจดีย์ฯ ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๕

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้บัญชาการทหารอากาศ

เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้บัญชาการทหารอากาศ สำหรับประดิษฐานไว้ในยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีย์นั้น ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่ง สำหรับบรรจุในพระเกศเมาลีของพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคลด้วย ดังนั้น เมื่อการก่อสร้างและตกแต่งองค์พระมหาธาตุเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว กองทัพอากาศจึงได้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเกศเมาลีของพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาประกอบพิธีบรรจุให้ด้วยพระองค์เอง


สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้บัญชาการทหารอากาศ

พระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว กษัตริย์ผู้ครองนครกุสินารา ได้ทรงประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แล้วทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีจำนวน ๑๖ ทะนาน เป็น ๘ ส่วน มอบให้แก่เจ้าผู้ครองนครผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อเจ้าผู้ครองนครเหล่านี้กลับมาถึงบ้านเมืองของตนแล้ว ได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเก็บรักษาไว้ ให้ประชาชนกราบไหว้บูชา ประเพณีการสร้างพระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเก็บรักษาไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ และน้อมรำลึกถึงคุณค่าของพระพุทธเจ้าจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายออกไปยังทวีปต่าง ๆ มากขึ้น ก็ได้มีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นในเมืองสำคัญ ๆ หลายแห่ง และเมื่อมีการสร้างเจดีย์สำคัญขึ้น ก็จะขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จากแหล่งดั้งเดิมมาบรรจุไว้เพื่อน้อมนำให้พุทธศาสนิกชนมาสักการบูชา

ในการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในครั้งนี้ จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระวิหารพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งที่ได้รับแบ่งมาจากเมืองกุสินารา หลังพิธีถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า มาประดิษฐานไว้ในยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีย์ฯ ร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้จากผู้จิตศรัทธาร่วมอนุโมทนาอันได้แก่

พระบรมสารีริกธาตุ ที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้

พระบรมสารีริกธาตุ ที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานให้

พระบรมสารีริกธาตุ ที่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ข้าราชการกองทัพอากาศ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมอนุโมทนา

พระบรมสารีริกธาตุส่วนที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกานี้ รัฐบาลศรีลังกาได้ประกอบพิธีมอบให้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๕ ณ พระวิหารพระเขี้ยวแก้ว วัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี้ วัดนี้มีลักษณะคล้ายวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ของเราคือ อยู่ในบริเวณพระมหาราชวัง เดิมเป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระมหากษัตริย์ เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองและย้ายเมืองหลวงจากเมืองแคนดี้มาอยู่ที่โคลัมโบแล้ว ก็ยังคงอนุรักษ์วัดมัลวัตตะ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และให้คงประเพณีการบูชาพระบรมสารีริกธาตุสืบมา ในปัจจุบันรัฐบาลศรีลังกาได้
ใช้วัดนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พิธีทำบุญฉลองวันครบรอบ ๓ ปี ของ การบริหารประเทศของประธานาธิบดี รามะ สิงเหเปรมาดาซ่า เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๕ และพิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุ ให้กับ กองทัพอากาศ ในวันรุ่งขึ้น เป็นต้น

พิธีรับมอบพระบรมสารีริกธาตุ

ในเช้าวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๕ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศและคณะซึ่งประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่ ของกองทัพอากาศ คณะกรรมการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ฯ คณะแม่บ้านทหารอากาศ นำโดยคุณหญิงวันทนา โรจนนิล และคณะสงค์ ๘ รูป ออกเดินทางจากดอนเมืองไปยังกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ด้วยเครื่องบินแอร์บัส ๓๑๐ ซึ่งกองทัพอากาศจัดซื้อมาใหม่ และเดินทางมาถึงดอนเมือง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ เที่ยวบินนี้จึงเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของเครื่องบินแอร์บัสลำใหม่ของกองทัพอากาศ

องค์ประกอบสำคัญในการตกแต่งองค์พระมหาสถูปเจดีย์ มีที่ควรนำมากล่าวไว้เป็นหลักฐาน มีดังนี้

ส่วนยอดสุดประดิษฐานฉัตร ๙ ชั้น ทำด้วยเหล็ก ไร้สนิมสีเงินฉลุลาย ปลายยอดฉัตรเป็นสีทองปัดผิวฉัตรนี้ ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภิญโญ สุวรรณคีรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะสงฆ์ที่ร่วมเดินทางไปรับพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ประกอบด้วย

๑. สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ผู้แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

๒. พระปัญญาวชิราภรณ์ พระเลขานุการ สมเด็จพระพุฒาจารย์

๓. พระอรรถกิจโกศล วัดบวรนิเวศวิหาร

๔. พระสุมนติสสะ วัดบวรนิเวศวิหาร

๕. พระมหาสุวิทย์ ปิยวิชโช วัดบวรนิเวศวิหาร

๖. พระครูวิสุตธรรมรส เจ้าอาวาสวัดดอนเมือง

๗. พระครูวิบูลวรคุณ เจ้าอาวาสวัดลาดสนุ่น

๘. พระครูพิสณห์วิหารกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

เมื่อถึงท่าอากาศยานโคลัมโบ คุณอภินันท์ ปวนะฤทธิ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโคลัมโบ และคุณหญิง พร้อมด้วยคุณเรืองยศ ภมรมนตรี ผู้จัดการบริษัทการบินไทย สาขากรุงโคลัมโบและภรรยา ได้มาให้การต้อนรับเป็นอย่างดียิ่งโดยได้จัดเลี้ยงรับรองและถวายอาหารเพลแก่พระสงฆ์ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต

บริเวณที่ใช้ในการประกอบพิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุ เป็นโถงหน้าประตูวิหารพระเขี้ยวแก้วชั้นล่าง ผู้ร่วมพิธีประกอบด้วยผู้แทนคณะสงฆ์ของศรีลังกา ซึ่งนำโดยสมเด็จพระสังฆราชนิกาย
สยามวงศ์ และผู้แทนคณะสงฆ์ไทย นำโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ทั้งหมด จะยืนอยู่หน้าประตูวิหาร สำหรับผู้ร่วมพิธีซึ่งเป็นฆราวาสประกอบด้วย ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม
ผู้บัญชาการทหารพระเขี้ยวแก้ว และคณะของ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ตลอดจนข้าราชการและประชาชนชาวศรีลังกา จะยืนอยู่ด้านตรงข้ามกับคณะสงฆ์

ด้านซ้ายของแท่นปราศรัย เป็นบุษบกที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่จะมอบให้กองทัพอากาศถัดมาเป็นเครื่องบูชาที่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ นำไปสักการะพระเขี้ยวแก้ว และถวายสมเด็จพระสังฆราชของศรีลังกา และมอบให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของศรีลังกา ซึ่งประกอบด้วยพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ สำหรับสักการะพระเขี้ยวแก้ว พานธูปเทียนแพ พระพุทธรูป ภปร. ปิดทอง และจีวร สำหรับถวายสมเด็จพระสังฆราชศรีลังกา พระพุทธรูปคุ้มเกล้า สำหรับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี นายนิรันจัน ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารอากาศศรีลังกา

สำหรับพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์และพานธูปเทียนแพ ที่นำไปในครั้งนี้ เลือกสรรแบบและจัดทำด้วยความประณีตบรรจง มีความงดงามเป็นที่ชื่นชมของผู้ร่วมพิธีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ด้วยความอนุเคราะห์ ของ อาจารย์น้อย พูนขุนทด วิทยากรดอกไม้สด โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (วิทยาลัยในวังหญิง)

พิธีเริ่มด้วย นายนิรันจัน นำขบวนอิสริยยศตามประเพณีโบราณ มาให้การต้อนรับผู้บัญชาการทหารอากาศ และประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ลานหน้าพระวิหารพระเขี้ยวแก้วแล้วนำเข้าสู่วิหาร

เมื่อเข้ามาถึงภายในพระวิหาร นายนิรันจัน ได้นำผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะพร้อมด้วยประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ขึ้นไปทำพิธีสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ชั้นบนของพระวิหารเป็นการบูชาด้วยพุ่มดอกไม้ที่เตรียมไป และพานดอกมะลิที่ นายนิรันจัน เตรียมไว้ให้พร้อมทั้งถวายข้าวพระพุทธป ระกอบด้วยอาหารคาวหวาน ๓๒ ชนิด เสร็จพิธีบูชาแล้ว
นายนิรันจันจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ศรีลังกาจะมอบให้ลงมายังมณฑลพิธี

ขณะที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุผ่านเข้ามายังมณฑลพิธี ผู้ร่วมพิธีชาวศรีลังกาจะพนมมือและเปล่งเสียงสาธุการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาพร้อมกับการประโคมของปี่และกลอง ตามประเพณีของศรีกา

พิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุ เริ่มด้วยพระเถระผู้ใหญ่ของศรีลังกาและของไทย สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วพระสงฆมหานายกะ ประธานสงฆ์ฝ่ายศรีลังกา และสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานสงฆ์ฝ่ายไทยกล่าวสัมโมทนียกถาจบแล้ว

ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ถวายพานธูปเทียนแพสักการะพระสังฆมหานายกะ และถวายพระพุทธรูป ภปร. กะไหล่ทองและผ้าไตรแก่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เพื่อถวายพระสังฆมหานายกะในนามของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ต่อจากนั้น นายนิรันจัน ผู้ปกครองวิหารกล่าวให้ผู้ร่วมพิธีทราบถึงความเป็นมาของการมอบพระบรมสารีริกธาตุ

ผู้บัญชาการทางทหารอากาศ กล่าวสุนทรพจน์แสดงเจตจำนง ของการรับ พระบรมสารีริกธาตุและการกระชับความสัมพันธ์ของพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกา และพุทธศาสนิกชนชาวไทย จบแล้วประธานาธิบดีศรีลังกา กล่าวสุนทรพจน์ ในนามของรัฐบาลศรีลังกา จบแล้วได้มอบพระบรมสารีริกธาตุให้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ขณะมอบพระสงฆ์ในพิธีเจริญชัยมงคลคาถา

เมื่อรับมอบพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้มอบพระคุ้มเกล้าให้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารอากาศศรีลังกา และ นายนิรันจัน เป็นที่ระลึก กับได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้ นายนิรันจัน เพื่อบำรุงพระวิหาร ต่อจากนั้น นายนิรันจัน ได้มอบของที่ระลึก ให้กับผู้บัญชาการทางทหารอากาศ

เสร็จพิธีแล้ว คณะของผู้บัญชาการทางทหารอากาศ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับกรุงโคลัมโบ โดยขบวนรถยนต์ที่รัฐบาลศรีลังกาจัดให้ และเดินทางโดยเครื่องบินกลับถึงท่าอากาศยานทหารดอนเมือง เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น.



ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ
พิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุ

ก่อนที่คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกาจะถึงสนามบินดอนเมือง พลอากาศเอก อนันต์ กลินทะ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วยคณะนายทหารผู้ใหญ่ และแม่บ้านทหารอากาศ ได้ร่วมกันทำพิธีสักการะพระอนุสาวรีย์ของจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ที่ประดิษฐานอยู่หน้าห้องรับรอง
กองบัญชาการกองทัพอากาศ เพื่อเป็นการบอกกล่าวและอัญเชิญดวงพระวิญญาณมาร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ จากศรีลังกาซึ่งจะนำมาประดิษฐานไว้ในห้องประชุมกองทัพอากาศ เพื่อรอการบรรจุในพระมหาธาตุเจดีย์ต่อไป เมื่อถึงท่าอากาศยานทหารดอนเมืองผู้บัญชาการทหารอากาศ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากเครื่องบิน ไปประดิษฐานไว้ในห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพอากาศ เพื่อให้นายทหารผู้ใหญ่ และผู้มารับได้ถวายสักการะโดยทั่วกัน โดยกรมพลาธิการทหารอากาศได้จัดพวงมาลัย และช่อดอกไม้สำหรับบูชาให้แก่ผู้ร่วมพิธีทุกคน

ผู้ที่มาคอยรับพระบรมสารีริกธาตุในวันนั้น นอกจากนายทหารผู้ใหญ่ ข้าราชการลูกจ้างกองทัพอากาศ และครอบครัวแล้ว ยังมีพระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ บริเวณดอนเมือง ท่านเอกอัครราชทูตศรีลังกา ประจำประเทศไทยและประชาชนที่ทราบข่าวมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เมื่อการตกแต่งองค์พระมหาเจดีย์ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ และกำหนดจะแล้วเสร็จ ในเดือนเมษายน ๒๕๓๕ มีความก้าวหน้าตามแผนงานทุกประการ ประกอบกับการเตรียมการสำหรับพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมแล้ว ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ กองทัพอากาศ จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ให้ทรงทราบถึงความก้าวหน้าของการก่อสร้าง พร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อที่จะได้ประกอบพิธีบรรจุ และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในยอดปลี ของพระมหาธาตุเจดีย์ฯ ได้ก่อนที่จะถึงฤดูฝน เมื่อความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาทก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารอากาศเข้าเฝ้ารับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ พระตำหนัก
ภูพิงคราชนิเวศน์

คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อขอให้ทรงพิจารณากำหนดวันที่เหมาะ สำหรับการประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานในยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งได้ทรงแนะนำให้ประกอบพิธี ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๕ เวลา ๑๔ นาฬิกา ๒๙ นาที และได้ทรงกำหนดวันที่จะประทานพระบรมสารีริกธาตุส่วนของพระองค์ให้กองทัพอากาศ ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๕

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๕ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศพร้อมด้วยคณะกรรมการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เข้าเฝ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อขอรับพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประทานให้กองทัพอากาศอัญเชิญไปประดิษฐานในพระมหาธาตุเจดีย์ฯ และทรงทำพิธีบรรจุบรมสารีริกธาตุ ที่ประทานให้พร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่ได้รับจากประเทศศรีลังกา ส่วนของผู้บัญชาการทหารอากาศ และของผู้มีจิตศรัทธาร่วมอนุโมทนาไว้ในพระเจดีย์พระธาตุหริภุญชัยจำลอง ก่อนการบรรจุ สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์ เป็นการสักการบูชาก่อนบรรจุในพระเจดีย์พระธาตุหริภุญชัยจำลอง

พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุไว้ในส่วนฐานของเจดีย์ฯ จำลอง เป็นของผู้มีจิตศรัทธาร่วมอนุโมทนาให้ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ชั้นที่ ๒ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ชั้นที่ ๓ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ประเทศศรีลังกามอบให้ ส่วนที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนยอดขององค์เจดีย์ฯ จำลองเว้นไว้สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในรัชกาลที่ ๙ ส่วนที่ ๕ ส่วน ยอดปลีขององค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงมีพระปฏิสันถารไต่ถามความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้วยความสนพระทัยและได้ทรงเมตตาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และประทานพรแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทุกคน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้กองทัพอากาศ เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๕ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดปลี พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ทรงสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ และบรรจุลงพระกรัณฑ์ทองคำด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานแล้วได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้าด้วยความชื่นชมโสมนัส

ในวโรกาสอันเป็นมงคลนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธสิริกิติฑีมายุมงคลจำลอง ขนาดความสูง ๙๐ เซนติเมตร แกะสลักด้วนหินหยกขาวบริสุทธิ์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมด้วยเหรียญที่ระลึกในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ อีกจำนวนหนึ่ง

พิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ


พิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ

เพื่อให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และครอบครัวของทหารอากาศ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้มีโอกาสบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ก่อนที่จะอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระมหาธาตุเจดีย์โดยทั่วถึงกัน กองทัพอากาศจึงจัดให้มีพิธีสมโภชขึ้นทั้งที่กรุงเทพมหานครและที่จังหวัดเชียงใหม่ พิธีสมโภชที่กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นที่บริเวณโรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นจากวันที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุส่วนของพระองค์ท่านให้กองทัพอากาศ พิธีเริ่มโดย ผู้บัญชาการทหารอากาศทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากห้องประชุมกองทัพอากาศ ขึ้นรถบุษบกแล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปประดิษฐานในมณฑป ซึ่งกรมช่างโยธาทหารอากาศ สร้างขึ้นอย่างงดงามหน้าอนุสาวรีย์บุพการีทหารอากาศ เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในมณฑปแล้ว
ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ทำพิธีสักการะและอัญเชิญดวงวิญญาณของบุพการีทหารอากาศ ร่วมบูชาพระบรมสารีริกธาตุต่อจากนั้นได้วางพานพุ่มดอกไม้บูชา พระบรมสารีริกธาตุแล้วจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จพิธีสงฆ์แล้ว นายทหารผู้ใหญ่ ข้าราชการลูกจ้างของ กองทัพอากาศ ตลอดจนครอบครัว และประชาชนในละแวกใกล้เคียงที่มาร่วมพิธี ขึ้นถวายดอกไม้และกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุโดยทั่วถึงกัน จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.

เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มีโอกาสร่วมในมหากุศลนี้โดยทั่วกัน คณะอนุกรรมการหารายได้ จึงได้จัดดอกไม้ธูปเทียนไว้บริการแก่ผู้มาสักการะทุกคน และได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้รับบริจาคและจำหน่ายเหรียญที่ระลึกตลอดงาน

ในช่วงกลางคืนได้จัดให้มีมหรสพสมโภชถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ในการนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งจากบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น ที่ได้นำคอนเสิร์ตมาช่วย และได้จัดการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อีกด้วย

พิธีสมโภชเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น. โดย พลอากาศเอก อนันต์ กลินทะ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กลับไปประดิษฐานในห้องประชุมกองทัพอากาศ เพื่อรอการอัญเชิญไปทำพิธีสมโภชอีกครั้งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่



การตกแต่งภายนอกองค์พระมหาธาตุเจดีย์

ก่อนที่กองทัพอากาศจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในองค์พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๕ กองทัพอากาศ ได้จัดพิธีสมโภชขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่บริเวณสนามกีฬากลาง ในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๕ เพื่อให้ประชาชน ชาวเชียงใหม่ และ จังหวัดใกล้เคียงได้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุโดยทั่วกัน โดยพลอากาศเอก อนันต์ กลินทะ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากห้องประชุมกองทัพอากาศ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอภินันท์ ปวนะฤทธิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา และคุณหญิง
นายกุนาวาเดนา เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยและภรรยา นายนิรันจัน ผู้ปกครองพระวิหารพระเขี้ยวแก้ว และภรรยา พร้อมด้วยคณะสงฆ์จากวัดต่าง ๆ รอบที่ตั้งดอนเมือง นายทหารผู้ใหญ่และข้าราชการกองทัพอากาศร่วมคณะไปด้วยเป็นจำนวนมาก

เมื่อเครื่องบินถึงสนามบินสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งมารอรับอยู่ที่กองบิน ๔๑ ได้ขึ้นมาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากเครื่องบิน ไปประดิษฐานบนรถบุษบกของกองบิน ๔๑ แล้วเคลื่อนขบวนไปยังพระอนุสาวรีย์สามกษัตริย์หน้าศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม เพื่อทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าเมืองเชียงใหม่

เมื่อถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนบุษบกของจังหวัดเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศ
พร้อมด้วย นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำพิธีสักการะและอัญเชิญดวงวิญญาณของกษัตริย์ล้านนาทั้งสามพระองค์สักการะพระบรมสารีริกธาตุ แล้วเคลื่อนขบวนไปยังสนามกีฬา

มีประชาชน ห้างร้าน และวัดวาอารารามที่อยู่ ๒ ข้างทาง มาเฝ้าสักการะและตั้งโต๊ะหมู่บูชาตลอดเส้นทาง

ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้เป็นการจัดตามประเพณีของชาวล้านนา เป็นขบวนแห่ที่มีความสวยงามแปลกตา มีโอกาสได้เห็นไม่บ่อยนักเพราะจะจัดเฉพาะในพระราชพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น การแห่พระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้จึงเป็นการรื้อฟื้น ประเพณีอันดีงามให้อนุชนได้เห็น และ ช่วยกันอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป การจัดรูปขบวนแห่มีวงดุริยางค์ของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพนำขบวน และตามด้วยขบวนช่อช้าง ขบวนเครื่องพุทธภิเษก ขบวนเครื่องสักการะ ขบวนธงชัย ขบวนแห่กลองนันทเภรี ขบวนข้าราชการกองบิน ๔๑ ขบวนรถบุษบกประดิษฐานพระธาตุ
หริภุญชัยจำลองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และปิดท้ายด้วยขบวนรถของผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้ร่วมพิธี

ขบวนธงช่อช้าง : ผู้ร่วมขบวนแต่งกายด้วยชุดทหารโบราณ ถือธงช่อช้าง และธงชัยซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของแม่ทัพ ในที่นี้มีความหมายว่า ชัยชนะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศรีสง่าต่อพระศาสนา สมควรแก่เครื่องบูชาทั้งหลาย

ขบวนฉัตรหลังเต่า : เป็นขบวนเครื่องพิธีพุทธาภิเษก ประกอบด้วยเครื่องอัฐบริขารใช้ในพิธีพุทธาภิเษกชั้นสูง ให้ความหมายถึงการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ของพระพุทธเจ้า

ขบวนต้นผึ้ง : ประกอบด้วยต้นไม้, ต้นหมากซุ่ม, ต้นหมากเบง ฯลฯ ผู้ร่วมในขบวนแต่งกายด้วยชุดชายไทยล้านนา ต้นผึ้งเหล่านี้เป็นดอกไม้บูชาและสมโภชพระศาสนา ใช้ประกอบในพิธีพุทธาภิเษก จึงถือได้ว่า เป็นสิริมงคลแก่การต้อนรับพระบรมสารีริกธาตุเข้าสู่นครเชียงใหม่

ขบวนแม่อุ้ย : ในขบวนนี้ แม่อุ้ย แต่ละคนจะถือธงชัย (ตุงไจ) เป็นเครื่องหมายของ การประกาศให้คนได้รู้ได้เห็นแต่ไกลถึงชัยชนะทางธรรม ไม่เพียงแต่จะประกาศให้มนุษย์ได้รู้ได้เห็นเท่านั้น ยังส่งให้เทวดาได้ร่วมอนุโมทนาด้วย

ขบวนกลองนันทเภรี (กลองใหญ่) : เป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง สำหรับใช้ในริ้วขบวนแห่ของกษัตริย์ ในนครเชียงใหม่มีกลองอยู่ ๓ ชนิด คือ

๑. กลองนันทเภรี

๒. กลองสะบัดชัย

๓. กลองยาว

การนำกลอง นันทเภรีมาเข้าขบวนแห่ในครั้งนี้ เป็นการเทิดทูน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแซ่ซ้อง ให้รู้ทั่วกัน ถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระบรมสารีริกธาตุ ดังคำโบราณของล้านนาที่ว่า
“มีเสียงกลอง มีพระศาสนา เจ็ดวันบ่มีเสียงกลอง พระศาสนาเสื่อม”

ต่อจากขบวนกลองนันทเภรี จะเห็นขบวนฉัตร ๕ ชั้น หมายถึง สิ่งควรเคารพระลึกถึงพระคุณ ๕ อย่างคือ

๑. พระคุณของพระพุทธเจ้า

๒. พระคุณของธรรมเจ้า

๓. พระคุณของพระสงฆ์เจ้า

๔. พระคุณของบิดา - มารดา

๕. พระคุณของครูบาอาจารย์

เมื่อถึงสนามกีฬาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากรถบุษบกไปประดิษฐานบนมณฑป ระหว่างทางมีสุภาพสตรีชาวล้านนาโปรยดอกไม้สักการะตลอดทาง เมื่อประดิษฐานพระบรมสารีกธาตุบนมณฑปเรียบร้อยแล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคุณหญิงวางพานพุ่มดอกไม้สดสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เจ้านายฝ่ายเหนือฟ้อนบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จพิธีแล้ว พระสงฆ์และผู้ร่วมพิธี ถวายสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ในการนี้มีเจ้านายฝ่ายเหนือและพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาได้นำเครื่องสักการบูชามาบูชาอย่างคับคั่ง

ตอนกลางคืน มีมหรสพสมโภช ทั้งภาพยนตร์ และคอนเสิร์ตของบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น ผู้บัญชาการทหารอากาศ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด และของกองทัพอากาศ ตลอดจนประชาชนชาวเชียงใหม่ และจังหวัดข้างเคียงมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวปราศรัยต่อผู้ร่วมงานให้ทราบถึงเจตจำนงของ กองทัพอากาศในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ และการจัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เสร็จแล้วมีการจุดพลุ ซึ่งจัดโดย กรมสรรพาวุธทหารอากาศ สร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง

พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานบนยอดปลีพระมหาธาตุเจดีย์

เมื่อเสร็จจากพิธีสมโภช ที่สนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในวันรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๕ กองทัพอากาศ ได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ และ ทำพิธีพุทธาภิเษก และเบิกพระเนตรพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล พร้อมกันนี้ก็ได้อัญเชิญพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคลจำลอง ขนาด ๔๕ ซม. จำนวน ๑๐๐ องค์ ซึ่งคณะกรรมการ ฯ จัดทำขึ้นเพื่อมอบให้ผู้บริจาครายใหญ่ไว้เป็นที่ระลึก และพระคุ้มเกล้าที่จะบรรจุไว้ในยอดปลีพระมหาธาตุเจดีย์เป็นพุทธบูชา เข้าร่วมในพิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้ด้วย โดยใช้ห้องโถงภายในพระมหาธาตุเจดีย์ ฯ เป็นที่ประกอบพิธี

ภายในโถงเจดีย์บริเวณรอบองค์พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล จัดเป็นมณฑลพิธีสำหรับพิธีพุทธาภิเษก ล้อมรอบด้วยราชวัติฉัตรธงและสายสิญจน์ตามประเพณี โดยจัดอาสนะสำหรับพระเถราจารย์ ๙ องค์ นั่งปรกเจริญภาวนาอยู่ภายในมณฑลพิธี ที่ฐานชุกชีรอบองค์พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคลเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิริกิตฑีฆายุมงคลจำลอง สำหรับพระพุทธรูปคุ้มเกล้านั้น ประดิษฐานอยู่บนแท่นใต้ภายพระราชกรณียกิจด้านหลังองค์พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล ส่วนแท่นใต้ภายพระราชกรณียกิจด้านซ้ายและขวานั้นจัดเป็นอาสนะสำหรับพระสงฆ์ในพิธีด้านหน้าพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคลตั้งมณฑปไปสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องบูชา ที่ระเบียงบนด้านหน้าทางซ้ายของประตูทางเข้าโถงเจดีย์เป็นที่ตั้งโต๊ะเครื่องสังเวยตามพิธีพราหมณ์ ทางด้านขวาเป็นที่ตั้งรอกขนาดใหญ่สำหรับนำพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยผู้อัญเชิญขึ้นไปยังยอดปลี

ในเช้าวันประกอบพิธีเวลาประมาณ ๐๖.๔๕ น. ผู้บัญชาการทหารอากาศและคุณหญิง พร้อมด้วยนายทหารผู้ใหญ่ และผู้ร่วมพิธีได้มาพร้อมกันที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประกอบพิธีบรรจุ เมื่อขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ผู้บัญชาการทหารอากาศได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนมณฑปที่จัดไว้ในห้องโถงขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ผู้บัญชาการทหารอากาศจุดธูปเทียนสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และคล้องพวงมาลัยดอกไม้สดรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยจำลอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นผู้บัญชาการทหารอากาศและคุณหญิง พร้อมด้วยนายทหารผู้ใหญ่ออกจากห้องโถงไปประกอบพิธีสังเวยตามพิธีพราหมณ์ เสร็จแล้วจึงกลับเข้ามาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีฯ โดยได้อัญเชิญมามอบให้ พลอากาศตรี ประกลป์ วิจิตรานุช ซึ่งแต่งเครื่องแบบปกติขาวรอรับอยู่ในกระบะส่งพัสดุ แล้วเดินเครื่อง
ชักรอกขึ้นไปบนยอดปลี ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้ร่วมพิธีทุกคนร่วมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยการถือสายสูตร ระหว่างนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เมื่อพลอากาศตรี ประกลป์ฯ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานบนแท่นภายในยอดปลีของพระบรมธาตุเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้ร่วมพิธีจึงได้กลับเข้ามาในโถงเจดีย์ฯ เพื่อประกอบพิธีพุทธาภิเษก และเบิกพระเนตรพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคลต่อไป

พิธีเริ่มโดยผู้บัญชาการทหารอากาศจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เทียนพระพุทธปัสสีและเทียนนวหรคุณ แล้วถวายพัดรองที่ระลึกแด่ พระสงฆ์ ๑๙ รูป อนุศาสนาจารย์อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล จบแล้วผู้บัญชาการทหารอากาศประกอบพิธีขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากจะมีสิ่งใดที่ได้ล่วงล้ำ ก้ำเกินในระหว่างดำเนินการก่อสร้างทั้งที่มิได้เจตนา และที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เริ่มด้วยผู้บัญชาการทหารอากาศจุดเทียน ๕ เล่ม ที่เครื่องบูชาขอขมาเบื้องหน้าองค์พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล เสร็จแล้วเจ้าอาวาสวัด แสนฝาง กล่าวคำขอขมาตามแบบล้านนา จบแล้วผู้บัญชาการทหารอากาศถวายน้ำสรงองค์พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล

เมื่อเสร็จพิธีขอขมาแล้วสมเด็จพุฒาจารย์ประธานสงฆ์ทำพิธีจุดเทียนชัย อนุศาสนาจารย์อาราธนาพระปริตรพระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ขณะเดียวกันพระเถราจารย์ ๙ รูปนั่งปรกเจริญภาวนา เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และทรงอานุภาพของพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานสงฆ์ทำพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล แล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล และโปรยข้าวตอกดอกไม้ทั่วมณฑลพิธีแล้วทำพิธีดับเทียนชัย

พิธีบรรจุพระพุทธรูปและพระเครื่องพระราชทาน

เพระพุทธรูปและเครื่อง ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ อัญเชิญขึ้นบรรจุในพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ประกอบด้วย

๑. พระพุทธรูปบูชา “พระพุทธโลกนาถสิริคุณ” เนื้อเงิน ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ส่วนฐานกว้าง ๑๕ นิ้ว ส่วนสูงจากฐานถึงพระเกตุ ๒๐ นิ้ว พระเกตุเมาลีและพระนามาภิไธยย่อ “สก” เป็นโลหะทองคำด้านหลังมีแผ่นจารึกพระนามของพระบูชา และหมายเลขขององค์พระลำดับที่ ๖๒

๒. พระพุทธรูปบูชา “พระพุทธโลกนาถสิริคุณ” เนื้อโลหะลงรักปิดทองขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ส่วนฐานกว้าง ๙ นิ้ว สูง ๑๒ นิ้ว พระนามาภิไธยย่อ “สก” เป็นโลหะเงิน จำนวน ๒ องค์

๓. พระเครื่องสมเด็จนางพญาจิตรลดา เนื้อโลหะทองคำ ๓ ขนาด ๆ ละ ๖๑ องค์

๔. พระเครื่อง สมเด็จนางพญาจิตรลดา เนื้อโลหะผสม ๒ ขนาด ๆ ละ ๕๖๐ องค์

๕. พระเครื่อง พระสังกัจจายย์ สก เนื้อโลหะทองคำ ๓ ขนาด ๆ ละ ๖๑ องค์

๖ .พระเครื่อง พระสังกัจจายย์ สก เนื้อโลหะผสม จำนวน ๕๖๐ องค์ พระพุทธรูปและพระเครื่องที่พระราชทานให้นี้ เป็นพระที่สำนักนายกรัฐมนตรีจัดสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ และได้พระราชทานพระส่วนหนึ่ง สำหรับนำไปบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์สำคัญของประเทศ ๕ แห่ง ได้แก่

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ จังหวัดเชียงใหม่

พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์

วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี

พระธาตุพนม จังหวัดครพนม

พระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครครีธรรมราช

กองทัพอากาศ ได้ประกอบพิธีบรรจุพระพุทธรูปและพระเครื่องพระราชทาน ไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๖ โดยมีพลอากาศเอก สมศักดิ์ กุศลาศัย ประธานกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธานในพิธี และมี คุณบรรจบ จันทิมางกูล ผู้แทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะกรรมการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ และเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมพิธี

พิธีเริ่มด้วยพระสงฆ์ให้ศีลและเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วเป็นพิธีบวงสรวง โดยคุณบรรจบ จันทมางกูล เป็นผู้อ่านโองการเสร็จแล้ว ประธานในพิธีอัญเชิญผอบบรรจุพระเครื่องขึ้นบรรจุบนยอดโดมของพระมหาธาตุเจดีย์ฯ ระหว่างนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ต่อจากนั้น จึงเป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน เนื่องจากพระพุทธรูปมีน้ำหนักมาก จึงต้องใช้ผ้าขาวอย่างหนาห่อพระพุทธรูป แล้วผูกสะพายหลังเจ้าหน้าที่ขึ้นไป โดยมี พลอากาศตรี ประกลป์ วิจิตรานุช และคุณบรรจบ จันทิมางกูล ขึ้นไปควบคุณการบรรจุจนเสร็จ ก่อนทำพิธีบรรจุ ผู้เทนสำนักนายกรัฐมนตรี และ ผู้แทนของ
กองทัพอากาศได้ทำการตรวจนับพระเครื่องเป็นที่ถูกต้อง พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ จึงเป็นพระมหาธาตุเจดีย์สำคัญองค์แรกที่ได้อัญเชิญพระพุทธรูป และพระเครื่องพระราชทานขึ้นบรรจุไว้เป็นพุทธบูชา

พระธาตุหริภุญชัยจำลอง

พระธาตุหริภุญชัยจำลอง เป็นภาชนะสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่จะประดิษฐานไว้ในยอดปลีพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริออกแบบและสร้างโดย คุณแหลมสิงห์ ดิษฐพันธ์ มีขนาดกว้าง ๓๔ ซม. สูง ๖๕ ซม. หนักประมาณ ๑๐ กก. ถอดได้เป็น ๕ ส่วน ส่วนฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ส่วนที่เหนือขึ้นมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของผู้บัญชาการทหารอากาศ ของประเทศศรีลังกา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตามลำดับ

เพื่อให้พระเจดีย์จำลองที่จะใช้เป็นภาชนะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีความบริสุทธิ์ ในการสร้างจึงได้ทำพิธีเททองเช่นเดียวกับการสร้างวัตถุมงคล ที่โรงหล่อแหลมสิงห์ จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ คุณประสงค์ รณะนันทน์
ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้ให้เกียรติมาร่วมพิธีด้วย

พระกรัณฑ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พระกรัณฑ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้นั้น ชั้นในสุดเป็นพระกรัณฑ์ไม้จันทน์ ภายในบุด้วยสำลีบรรจุซ้อนอยู่ในพระกรัณฑ์ทองคำ พระกรัณฑ์นากและพระกรัณฑ์เงิน เป็น ๔ ชั้น เมื่อนับรวมพระเจดีย์พระธาตุหริภุญชัยจำลองด้วยแล้วจะเป็น ๕ ชั้น

สำหรับพระกรัณฑ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชประทานให้ ส่วนที่ประเทศศรีลังกามอบให้ และส่วนของผู้บัญชาการทหารอากาศ นั้น เป็นพระกรัณฑ์ ๒ ชั้น ชั้นในเป็นพระกรัณฑ์ไม้จันทน์ชั้นนอกเป็นพระกรัณฑ์ทองคำ

ปกิณกะ

การสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล และเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๑๕๓๕ นี้ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้ริเริ่มโดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นดำเนินการตามคำสั่ง
กองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ ๔๔๗ ลง วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ มีพลอากาศโท ประชา มุ่งธัญญา เป็นประธานกรรมการและได้เชิญอาจารย์ไขศรี ตันศิริ คุณสันติ ชยสมบัติ และคุณกัญจนจักก์ สถาปนสุต ซึ่งเป็นคณะผู้ออกแบบพระมหาธาตุนภเมทนีดล มาเป็นผู้ออกแบบให้

เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ทำการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นบนยอดเนินซึ่งอยู่เคียงกันกับเนินที่สร้างพระมหาธาตุนภเมทนีดล จนมั่นใจแล้วจึงได้ถือฤกษ์วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๒ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ ยอดเนินที่จะทำการก่อสร้างเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะก่อสร้าง เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ได้ถอนศิลาฤกษ์นี้ไปเก็บรักษาไว้ที่ กองบังคับการ ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ เนื่องจากจะต้องปาดยอดเนินลงไปประมาณ ๑๕ เมตรเพื่อให้มีพื้นที่หน้าตัดเพียงพอสำหรับการก่อสร้างและการตกแต่งด้านภูมิสถาปัตย์ และให้ฐานขององค์เจดีย์ทั้ง ๒ องค์อยู่ในระดับเดียวกัน

ในระหว่างการรอแบบและรอการปรับพื้นที่ ซึ่งกำหนดจะเริ่มเมื่อสิ้นฤดูฝนนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลง ผู้บัญชาการทหารอากาศจากพลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี เป็นพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ ผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่ยังคงยึดมั่นในปณิธานของ ผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อน ในอันที่จะสร้างพระมหาธาตุเจดีย์น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ต่อไป และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นดำเนินการต่อ โดย พลอากาศเอก สมศักดิ์ กุศลาศัย เป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีคณะผู้ออกแบบชุดเดิมร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย และยังคงรับผิดชอบในการออกแบบต่อไป

ในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ บนดอยที่สูงเกือบ ๘,๐๐๐ ฟุต มีอากาศที่หนาวเย็น และลมแรงจัดอยู่ตลอดเวลา ในฤดูฝนจะมีฝน และ เมฆหนาทึบปกคลุมอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ผู้ที่ทำงานอยู่บนนั้นจึงต้องทนต่อสภาพอากาศที่เปียกชื้นและหนาวเย็นจัด และยังต้องทนต่อความหวาดเสียว เมื่อต้องขึ้นไปทำงานบนนั่งร้านสูง ๆ ในขณะลมแรงจัดอีกด้วย ทำให้แรงงานที่มีฝีมือซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นราบ ไม่สามารถทนทำงานในสภาพนี้ได้ แม้จะได้ค่าจ้างที่สูงกว่าปกติก็ตาม นอกจากนั้นเส้นทางขึ้นดอยยังเป็นทางที่คดเคี้ยวสูงชัน การขนส่งวัสดุก่อสร้างต้องใช้เวลามากและมีความสิ้นเปลืองสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การก่อสร้าง ต้องลงทุนสูงกว่าปกติแต่ผลงานที่ได้จะด้อยกว่าปกติ เพราะขาดแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างทุกคนคงจะรู้ดีถึงปัญหานี้ ดังนั้นเมื่อกองทัพอากาศ ออกประกาศแจ้งความประกวดราคาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์ใหม่นี้ จึงไม่มีผู้รับเหมาก่อสร้างรายใดยื่นซองประกวดราคา แม้กระทั่งบริษัทผู้รับงานสร้างพระมหาธาตุภเมทนีดล ก็ไม่ยอมรับงาน ในที่สุดผู้บัญชาการทหารอากาศ จึงได้ขอให้ห้างหุ่นส่วนจำกัน ฤทธิอุยานนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผลงานก่อสร้างให้กับหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพอากาศ มาเป็นเวลานานช่วยรับงานนี้

การสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ในครั้งนี้ ในส่วนของงานการตกแต่งนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นงานที่มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งกันจนถึงวันสุดท้ายนับตั้งแต่การตกแต่งภายในโถงเจดีย์เรื่อยลงมาถึงพลับพลาพิธีและลานจอดรถ สำหรับพลับพลาพิธีนั้น เดิมจะรื้อหลังเก่าแล้วมาสร้างใหม่ให้หันหน้าไปทางพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ โดยให้มีขนาดและลักษณะเดียวกันกับพลับพลาหลังเดิม ต่อมา คณะอนุกรรมการควบคุมการก่อสร้างและตกแต่ง ซึ่งมีพลอากาศเอก หม่อมราชวงศ์ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธาน พิจารณาเห็นว่าน่าจะสร้างให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับใช้เป็นสถานที่บริการผู้มาเยี่ยมชมได้ด้วยจึงได้ขยายแบบออกไปให้กว้างขวางกว่าเดิมมากกว่า ๓ เท่า โดยจะใช้ส่วนหนึ่งเป็นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นห้องบรรยายสรุปรับรองคณะที่มาเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการได้อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นที่แสดงนิทรรศการความเป็นมาของพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์และใช้เป็นห้องรับรองพิเศษสำหรับพระสงฆ์ได้ด้วย

ต่อมาในเดือน สิงหาคม ๒๕๓๕ ได้มีการเปลี่ยน ผู้บัญชาการทหารอากาศ จากพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล มาเป็นพลอากาศเอก กันต์ พิมานทิพย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับงานสร้างพระมหาธาตุเจดีย์มาตั้งแต่ต้น ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารอากาศ และได้ติดตามความก้าวหน้ามาโดยตลอด ในช่วงขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๖ ยังได้ไปเยี่ยมและมอบของขวัญปีใหม่ให้เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเป็นที่ชื่นชมของทุกคนเป็นอย่างยิ่ง

ตลอดระยะเวลาของการก่อสร้างอันยาวนานเกือบ ๓ ปีนี้ มีปัญหาที่ไม่คาดคิดหรือคิดไม่ถึงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะงานในส่วนของการตกแต่ง ซึ่งต้องใช้ความประณีตและความชำนาญเป็นพิเศษ งานบางอย่างต้องแก้แล้วแก้อีก แต่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น คุณณรงค์ ฤทธิอุยานนท์ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤทธิอุยานนท์ หรือ คุณ ศักดิ์ชัน ศิลาแสงรุ้ง เจ้าของร้านศักดิ์ศิลาพานิช ผู้รับช่วงงานแกะสลักภาพพระราชกรณียกิจ คุณวันโชค และคุณวันชัย กฤษฎามหาสกุล ผู้รับช่วงงานรูปปั้นดินเผาเคลือบสีรอบองค์เจดีย์ และคุณประดิษฐ ศรีวิชัยนันท์ ผู้รับช่วงงานรูปปั้นดินเผาเคลือบสีที่ซุ้มระเบียงต่างยินดีที่จะแก้ไขที่จะทำให้ใหม่ด้วยความเต็มใจ เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุดสำหรับน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้

การหารายได้

การดำเนินการด้านการหารายได้นั้น นับเป็นภาระที่หนักมาก เพราะนอกจากจะต้องหารายได้ไว้สำหรับการก่อสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ซึ่งประมาณการไว้ว่า จะต้องใช้เงินถึง ๑๓๕ ล้านบาท แล้ว ยังต้องหารายได้เผื่อไว้สำหรับเป็นทุนตั้งมูลนิธิเพื่อบำรุงรักษา พระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ให้สวยเด่นเป็นสง่าตลอดไปคณะอนุกรรมการหารายได้ซึ่งมี พลอากาศเอก เกษม ทวีวัฒน์ เป็นประธาน จึงได้กำหนดแนวทางในการหารายได้ไว้หลายรูปแบบ มีทั้งการจัดทำวัตถุมงคลเหรียญที่ระลึกออกจำหน่าย การจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ในรูปแบบต่าง ๆ และการเชิญชวนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และประชาชนทั่วไป ให้ร่วมบริจาค รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่ออกรับบริจาค และจำหน่ายเหรียญที่ระลึกในงานต่าง ๆ ที่ผู้จัดงานมีจิตศรัทธาที่จะร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล เช่น งานแสดงศิลปาชีพที่บางไทร งานแสดงสินค้าภูมิใจไทยทำ งานล้านนาเทรดแฟร์ งานกาชาด และงานวันรวมน้ำใจ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้มีโอกาสร่วม โดยเสด็จพระราชกุศลในวโรกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้โดยทั่วถึงกัน

เหรียญที่ระลึกที่คณะอนุกรรมการหารายได้สร้างออกจำหน่ายมีด้วยกัน ๔ แบบ ที่ปรากฏในภาพนี้เป็นเหรียญทองและเหรียญเงินขนาดเท่าเหรียญจริง แบบที่ ๔ เป็นเหรียญบรอนส์ชุบทองขนาดเท่าเหรียญทองคำหนัก ๑ บาท ต่างกันที่มีห่วงสำหรับห้อย ราคาจำหน่ายเหรียญละ ๑๐๐ บาท

สำหรับการออกแบบเหรียญที่ระลึกนี้กองทัพอากาศ พิจารณาเห็นว่า ในการสร้างพระมหาธาตุนภเมทนีดล น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ นั้น มิได้สร้างที่ระลึกไว้ จึงออกแบบเหรียญที่ระลึกนี้ให้เป็นเหรียญที่ระลึกของการสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ของกองทัพอากาศโดยได้ตกลงว่าจ้าง กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ให้เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการสร้าง ในวงเงิน ๒๗,๙๕๐,๐๐๐ บาท

กองทัพอากาศ โดย คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และพิธีการ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการหารายได้ได้จัดพิธีมังคลาภิเษกเหรียญที่ระลึกนี้ ณ อุโบสถ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ รวม ๓ วัน โดยได้นิมนต์พระอาจารย์ผู้ทรงคุณ จากทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน ๑๔๙ รูป ร่วมบริกรรมภาวนาตลอดเวลา ๓ วัน มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย และสมเด็จพระพุธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นองค์ประธานดับเทียนชัย การประกอบพิธีมังคลาภิเษกในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ มีพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณ เป็นที่เลื่องลือจากทุกภาคทั่วประเทศไทยมาชุมนุมกัน นับเป็นบุญกุศลของผู้ไปร่วมพิธีที่ได้มีโอกาสกราบรับพรจากท่าน


พิธีมังคลาภิเษกเหรียญที่ระลึก

เสร็จจากพิธีมังคลาภิเษกแล้ว ในวันรุ่งขึ้น เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งกองทัพอากาศ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการเดินเทิดพระเกียรติ โดยได้ทำพิธีถวายราชสดุดีที่ลานหน้าประตูช้างเผือก เมื่อเสร็จพิธีแล้ว คณะอนุกรรมการหารายได้จึงได้เปิดการจำหน่ายเหรียญที่ระลึกเป็นปฐมฤกษ์ ได้มีผู้สนใจร่วมอนุโมทนาด้วยเป็นจำนวนมาก

คณะอนุกรรมการหารายได้ รณรงค์หารายได้จากการจัดจำหน่ายเหรียญที่ระลึกมาโดยต่อเนื่องตลอดเวลาของการก่อสร้างกว่า ๒ ปี โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ธนาคารทหารไทย จำกัด และหน่วยงานของ กองทัพอากาศทุกหน่วย ที่ได้รับเอาเหรียญที่ระลึกไปช่วยเผยแพร่และจำหน่ายให้นับว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับ คณะอนุกรรมการหารายได้เป็นอย่างมาก

ในการจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ก็เช่นเดียวกัน มีหน่วยงานและคณะบุคคลในกองทัพอากาศหลายหน่วยหลายคณะได้จัดกิจกรรมขึ้น ซึ่งมีทั้งการแข่งขันกอล์ฟ, การแข่งขันชกมวย, การแข่งรถ, งานแสดงสินค้า, งานแสดงคอนเสิร์ต, การแสดงนาฏศิลป์จีน และอื่น ๆ เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ นับเป็นสิ่งที่น่าปลื้มปิติในการแสดงออกถึงความจงรับภักดีของพี่น้องทหารอากาศเป็นอย่างยิ่งนอกจากนี้ ยังมี บริษัท นิธิทัศน์ โปรโมชั่น จัดการแสดงคอนเสิร์ตใจประสานใจ เพื่อชาวไทยขึ้น ที่กองบินต่างจังหวัดทั้ง ๑๑ แห่ง และกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดนาฏศิลป์จีนมาแสดงที่ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๖ รอบ รายได้จากการแสดงของทั้ง ๒ คณะนี้ ได้มอบสมทบทุนสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ในส่วนของการรับบริจาคนั้น ได้มีหน่วยของราชการ, รัฐวิสาหกิจ, บริษัท, ห้างร้าน และประชาชน ผู้เลื่อมใสศรัทธานำเงินมาบริจาคให้กับ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล จำนวน ๘๗ ราย รวมเป็นเงิน ๗๑,๑๓๘,๘๙๐ บาท นอกจากนี้ ยังมีผู้บริจาคไว้ในหีบรับบริจาคที่คณะอนุกรรมการหารายได้ นำไปตั้งรับบริจาคตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวม ๑,๘๔๔,๐๓๐ บาท


การประชาสัมพันธ์

เมื่อครั้งที่ กองทัพอากาศ สร้างพระมหาธาตุนภเมทนีดล น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ นั้นเป็นวาระที่ กองทัพอากาศ ได้รับการสถาปนามาครบ ๗๒ ปีพอดี กองทัพอากาศจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะแสดงพลังความรักความสามัคคี และความจงรักภักดีของ ทหารอากาศ ให้ปรากฏดังนั้นการประชาสัมพันธ์และการหารายได้เพื่อเป็นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างจึงได้กระทำอยู่เฉพาะในแวดวงของทหารอากาศเท่านั้น บุคคลทั่วไปจึงไม่ทราบและไม่มีโอกาสได้โดยเสร็จพระราชกุศล ฉะนั้นในครั้งนี้กองทัพอากาศจึงได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ และเป็นอนุสรณ์ของความจงรักภักดีไว้เคียงคู่พระมหาธาตุนภเมทนีดล เพื่อให้ผู้มาสักการะและเยี่ยมชมได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ไว้ในความทรงจำตลอดไป

การประชาสัมพันธ์ของ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และพิธีการ ซึ่งมีพลอากาศเอก สมมต สุนทรเวช เป็นประธานจึงได้มุ่งให้ประชาชนทั่วประเทศได้ทราบถึงเจตจำนงของกองทัพอากาศ ในการสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มีโอกาสร่วมบริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลโดยทั่วถึงกัน โดยได้จัดให้มีการแถลงข่าวขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๓ ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิตเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและผู้นำชุมชนในภาคเหนือ เพื่อสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์บนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติยังผลให้การก่อสร้างดำเนินไปด้วยความราบรื่น ปราศจากการต่อต้านใด ๆ และยังได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ หลายแห่งในการดำเนินโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณพระมหาธาตุทั้ง ๒ องค์ ในเวลาต่อมาด้วย

นอกจากการแถลงข่าวแล้ว ยังได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยต่อเนื่อง มีทั้งการจัดชุดประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ การจัดทำบัตร ส.ค.ส. ภาพทิวทัศน์ของพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ออกจำหน่ายจ่ายแจก การจัดทำบทโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์การสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ออกรายการโทรทัศน์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และในวันที่ระลึก กองทัพอากาศ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด การเชิญสื่อมวลขนทุกแขนง ตลอดจน ผู้จัดรายการสารคดีทางวิทยุและโทรทัศน์จากส่วนกลาง ไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าของการสร้างเป็นระยะ ๆ เพื่อขยายขอบข่ายของการประชาสัมพันธ์ให้ถึงประชาชนทุกคน

การดำเนินการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ของ กองทัพอากาศ ในครั้งนี้จึงเป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายและมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์และเช่าบูชาเหรียญที่ระลึกที่กองทัพอากาศสร้างขึ้นจำหน่าย เพื่อหารายได้เป็นทุนสำหรับการก่อสร้าง เป็นจำนวนมาก

ตลอดเวลาของการก่อสร้างอันยาวนานนี้ เป็นประสบการณ์ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งความยากลำบาก ความตรากตรำ ทำงานในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ความภูมิใจที่ได้ทำงานอันยิ่งใหญ่และคงไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ มีความชื่นใจ และหายเหนื่อยได้เท่าภาพที่เห็นนี้

ขอจงทรงพระเจริญ

ในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีของพระมหาธาตุเจดีย์ ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๕ กองทัพอากาศ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปคุ้มเกล้า ขึ้นบรรจุไว้รอบพระบรมสารีริกธาตุเป็นพุทธบูชาในพระนามและในนามของผู้มีพระคุณต่อกองทัพอากาศ และบรรพชนล้านนา จำนวน ๒๓ องค์ และมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเช่าบูชาร่วมบรรจุด้วยอีก ๘๐ องค์ โดยได้จารึกชื่อของผู้บริจาคหรือข้อความที่ผู้บริจาคประสงค์ไว้ที่ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์